โลกหลังวิกฤติโควิด-19 เราควรสบายใจแค่ไหน?

01 ม.ค. 2566 | 07:22 น.

โลกหลังวิกฤติโควิด-19 เราควรสบายใจแค่ไหน? : คอลัมน์เศรษฐกิจ 3 นาที โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,849 หน้า 5 วันที่ 1 - 4 มกราคม 2566

 

ก้าวเข้าสู่ปี 2566 เป็นปีที่ 4 หลังจากที่เราได้พบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นครั้งแรก ในปี 2566 นี้เองจะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะกลับมามีขนาดของเศรษฐกิจที่มากกว่าปีที่ก่อนเกิดโควิด-19 หรืออาจจะกล่าวได้ว่า วิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้ประเทศไทยหลุดออกจากเส้นทางการเติบโตไปถึง 3 ปีทีเดียว

 

ข่าวดีก็คือ ประเทศไทยได้เริ่มออกเดินก้าวต่อไปข้างหน้าในปี 2566 นี้แล้ว คำถามต่อมาก็คือ ในโลกหลังวิกฤติโควิด-19 นั้น เราสามารถวางใจได้แค่ไหนว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เผชิญกับวิกฤติอื่นๆ ตามเข้ามาอีก?

 

มีคำกล่าวกันในแวดวงนักลงทุนว่า วิกฤติการณ์ใหญ่ๆ มักจะเกิดขึ้นประมาณ 10 ปีต่อครั้ง โดยยกประสบการณ์ใน อดีต เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งเกิดในปี 2540 ตามด้วยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2550 และมาสู่วิกฤติโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งต่างก็เป็นวิกฤติที่เกิดประมาณ 10 ปีต่อครั้ง ทำให้อาจจะอนุมานต่อในอนาคตว่าวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะต้องรอเกือบ 10 ปี 

 

 

ในความเห็นของผู้เขียน มองว่าสถานการณ์ในอนาคตอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นด้วยเหตุผลบางประการ และการวางแผนเพื่อรองรับความเสี่ยงที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลาจะช่วยทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเตรียมรับมือกับอนาคตได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

 

โลกหลังวิกฤติโควิด-19 เราควรสบายใจแค่ไหน?

 

 

ประการแรก ก็คือ ต้นตอของปัญหาวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหากย้อนตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปัจจุบันจะมีรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ วิกฤติการณ์จากราคานํ้ามัน วิกฤติหนี้ต่างประเทศ วิกฤติในภาคธนาคาร วิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ วิกฤติจากโรคระบาด จากวิกฤติในกลุ่มประเทศหนึ่งมาสู่วิกฤติในอีกกลุ่มประเทศหนึ่ง แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่นักวิชาการ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ไม่สามารถคาดเดาได้ นั่นก็คือ วิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นภัยคุกคามที่ไม่สามารถคาดเดาได้

 

 

ประการที่สอง ก็คือ ความถี่ของวิกฤติการณ์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะสูงมากขึ้น โดยหากพิจารณาถึงความเสี่ยงในโลกปัจจุบันจะพบว่ามีหลากหลายความเสี่ยงที่เป็นประเด็นที่น่ากังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ และจีน การบุกยูเครนของรัสเซียที่สุ่มเสี่ยงที่จะขยายวงกลายเป็นสงครามในวงกว้างครั้งใหม่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้ในภาคการเงินของประเทศจีนที่คล้ายคลึงกับต้นตอของวิกฤติการณ์ในอดีต ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มจะมีความผันผวนและรุนแรงในระดับที่สูงขึ้น ภัยคุกคามจากโรคระบาดใหม่ๆ ที่มีการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วขึ้นและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากการติดต่อเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสถานการณ์วิกฤติหนี้ของหลากหลายประเทศที่ก่อหนี้สินเกินกว่าความสามารถที่จะใช้จ่ายซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์วิกฤตในอดีต

 

บทเรียนจากวิกฤติโควิด- 19 ครั้งนี้ คือ การเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ หากเริ่มต้นจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ในปี 2563 จะพบว่าโลกเกิดวิกฤติซ้อนหลายวิกฤติตามมา ตั้งแต่วิกฤติรัสเซียบุกยูเครนซึ่งนำไปสู่วิกฤติราคานํ้ามัน และวิกฤติสภาพอากาศแปรปรวนโดยในปี 2565 พบว่าดัขนีสะท้อนปัญหา La Nina ในระดับที่สูงนับตั้งแต่ปี 2554 จนทำให้ยุโรปเกิดวิกฤติภัยแล้ง ในขณะที่ประเทศไทยเกิดปัญหานํ้าท่วมรุนแรง วิกฤติเงินเฟ้อ ของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์จนทำให้ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง และในอนาคตมีการคาดการณ์กันว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในหลากหลายประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากค่าเงินที่อ่อนจนเกินไป บวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างภายในจะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในหลายประเทศ

 

นั่นคือ วิกฤติการณ์ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นวิกฤติที่ซ้อนวิกฤติ เนื่องจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลกในปัจจุบันที่ได้สะสมความเสี่ยงในด้านต่างๆ เข้าไว้จำนวนมากและพร้อมที่จะเกิดปัญหาไล่เรียงกันเป็นทอดๆ

 

ประการที่สาม เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากสถานการณ์การเกิดวิกฤติที่ซ้อนวิกฤติ ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบมีเวลาฟื้นตัวที่จำกัดก็ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์รอบใหม่ วิกฤติการณ์ในอนาคตจึงมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงที่สูงมากกว่าในอดีตที่เกิดวิกฤติการณ์ด้วยสาหตุเดียว

 

ท้ายที่สุด ก็คือ กลไกการแก้ไขปัญหาวิกฤติในอดีตที่สำคัญ คือ การมีโอกาสทางเศรษฐกิจจากประเทศที่ได้รับผลกระทบที่จำกัด เช่น ในช่วงวิกฤติการณ์การเงินของสหรัฐ ในปี 2007-2010 นั้น โอกาสทางเศรษฐกิจโลกในการฟื้นตัวเกิดขึ้นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนที่เข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจโลกเอาไว้ หากแต่ในอนาคต การเชื่อมโยงเศรษฐกิจและโลกได้เข้ามาสู่ยุคดุลยภาพใหม่ที่มีการเชื่อมโยงกันในระดับที่สูง ทำให้วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มจะส่งผล กระทบในวงกว้างไปทั่วโลก อีกทั้งยังไม่พบว่ามีเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ที่จะเป็นความหวังและโอกาสให้กับเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้แบบกรณีของประเทศจีนในช่วงเศรษฐกิจที่ผ่านมา ดังนั้น กลไกการประคองเศรษฐกิจโลกในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะมีลดลงด้วย จึงทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติการณ์ใดๆ มักจะต้องใช้เวลายาวนานมากกว่าในอดีต

 

ดังนั้น แม้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 และได้เดินหน้าสู่เส้นทางการเติบโตอีกครั้งแล้วก็ตาม วิกฤติการณ์ในอนาคตอาจจะไม่ได้อยู่ห่างออกเราไปไกลจนเราสามารถวางใจได้โดยสมบูรณ์ และทุกภาคส่วนควรที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤติการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอในอนาคต 

 

การเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤติในอนาคตต้องทำอย่างไรนั้น ผู้เขียนขออนุญาตยกเป็นหัวข้อในบทความต่อๆ ไป