เงินเฟ้อ-น้ำมัน-เศรษฐกิจ กับการแก้ปัญหาของรัฐบาล

06 ก.ค. 2565 | 23:00 น.

บทบรรณาธิการ

กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี แม้ยังต่ำกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8% แต่ถือเป็นระดับสูงและอยู่ในระดับเสี่ยงสูงกับภาวะเศรษฐกิจไทย ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อ 6 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.61% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก เฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.85%

 

เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น 7.66% สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 39.97% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงถึง 39.45% ค่าไฟฟ้าเพิ่ม 45.41% ก๊าซหุงต้มเพิ่ม 12.63% ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 6.42% โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่เป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิต โลจิสติกส์และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น สินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่นกันอย่าง น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ เบียร์ สุรา และค่าโดยสารสาธารณะ

เงินเฟ้อในไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังประเมินไม่ได้ จากหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ราคาน้ำมัน ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัว ที่มีผลต่อกำลังซื้อ ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้คาดการณ์ได้ลำบาก ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ยังคาดการณ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 4-5% มีค่ากลาง 4.5%

 

ปัจจัยสำคัญที่ไล่เรียงมาจะเห็นว่าตัวใหญ่สุดที่กดดันเงินเฟ้อมาจากน้ำมัน ซึ่งจะดันราคาทั้งตัวน้ำมันเอง การผลิตไฟฟ้า ก๊าซ ที่ผ่านมาจึงมีการถกเถียงกันมากเรื่องราคาน้ำมัน และการบรรเทาเยียวยาให้กับประชาชนผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน การอิงราคาน้ำมันกับตลาดสิงคโปร์ ที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรยกเลิกชั่วคราว โดยเฉพาะการบริหารจัดการค่าการกลั่นให้เหมาะสม แบ่งสรรปันส่วนกลับคืนมาให้ประชาชน ไม่ควรเป็นลาภลอยให้กับบริษัทน้ำมัน กรณีเปรียบเทียบแล้วว่าสูงเกินไป

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามเข้าไปบริหารจัดการ ด้วยการขอความร่วมมือโรงกลั่นให้ส่งกำไรส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีข้อสรุป หรือกระทั่งมีความพยายามเข้าไปบริหารจัดการ ทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และพลังงาน ด้วยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด ซึ่งยังเป็นการแก้ปัญหาในรูปแบบเดิม โดยอาศัยวิธีการตั้งกรรมการ เมื่อมีเหตุที่เข้าไปเกี่ยวหลายส่วน ซึ่งการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการจะมีความล่าช้า ไม่ทันกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รับมือวิกฤติ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการขยับสั่งการในทุกองคาพยพ จึงต้องควรทบทวนแนวทางการแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน โดยปรับกระบวนการทำงานให้เป็นการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติ