เศรษฐกิจไทยจมหลุมดำ World Bank ไม่ใช่พ่อ?

03 ก.ค. 2565 | 03:46 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

สัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารโลก  World Bank ได้ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจของไทย ออกมาชุดหนึ่ง ที่สะท้อนการพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมา 
 

ผมขออนุญาตนำมาเสนอเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นแง่มุมทางเศรษฐกิจไทย ในสายตาโลก โดยจะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 Episode 


 

EP#1 เป็นการสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำมาว่ามีผลสัมฤทธ์อย่างไรบ้าง
 

EP#2 เป็นการทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่ต้องเผชิญว่าจะมีมรสุมอะไรบ้าง และผลจะเป็นเช่นไร
 

EP#3 ว่าด้วยเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่าด้วยเรื่องของการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ฮอตฮิตในกระแสธุรกิจของโลกว่า ไทยจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

มาดูข้อคิดเห็นของธนาคารโลกในเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย พบว่าภาพรวมได้เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2564 ถึงต้นปี พ.ศ. 2565 แต่ก็ยังช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงที่จํานวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น แต่กิจกรรมทาง เศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 1/ 2565 ตรงกันข้ามกับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่มีการฟื้นตัวเร็วกว่า 
 

ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 อัตราการฉีดวัคซีนที่สูง ทําให้จํานวนผู้เสียชีวิตอยู่ในวงจํากัด การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน 
 

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่รัสเซียบุกยูเครน ทําให้กระทบต่อระดับราคาสินค้าและกิจกรรมไปทั่วทั้งโลก
  

ผลสํารวจชี้ว่า ผลกระทบทางลบด้านรายได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานจํากัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค อุปสงค์สําหรับสินค้าส่งออก ปรับตัวลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม 


 

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด ถึงร้อยละ 94 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 และยังคงมีแรงต้านจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และมาตรการจํากัดการเดินทางของประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
 

ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงขาดดุลในไตรมาส 1/ 2565 จากการนําเข้าเชื้อเพลิง และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และรายรับจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในไตรมาสที่ 1/ 2565 เช่นเดียวกับการนําเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจํานวนมาก ส่งผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับทรงตัว ที่ประมาณร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 
 

การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดของสหรัฐฯ และการสูญเสีย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากการที่รัสเซียบุกยูเครน ทําให้เงินทุนไหลออกจากตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ไทยจํานวนมาก ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ในขณะที่เงินทุนสํารองระหว่างประเทศลดลง แต่ยังคงมีปริมาณใกล้เคียงกับมูลค่าการนําเข้าจํานวน 1 ปี โดยประเทศไทยยังสามารถรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอกได้อย่างแข็งแกร่ง
 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทะลุกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 1-3 แตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ที่ร้อยละ 7.1 ในเดือนพฤษภาคม โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากราคานํ้ามันที่พุ่งสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.2 ใกล้จะแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ จะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย ประมาณร้อยละ 2 แต่ก็มีความจําเป็นต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อระบุว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นแบบชั่วคราว หรือมีแนวโน้มจะเป็นแบบถาวร


 

การควบคุมราคาพลังงานและขนส่งสาธารณะ มีบทบาทในการจํากัดแรงกดดันด้านค่าครองชีพของประชาชน 
 

แต่การควบคุมดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ โดยส่งผลให้การกระจายรายได้ถดถอย และทําให้การใช้นโยบายการเงินมีความซับซ้อนขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางยังคงรักษาจุดยืนในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แต่ก็ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 

การขาดดุลทางการคลังยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.2 ต่อ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 60 ต่อ GDP เพราะรัฐบาลยังคงใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการระบาด และเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 
 

การใช้จ่ายภาครัฐโดยรวมยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรก ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ประมาณร้อยละ 25 ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี (ปีงบประมาณ 2560 – 2562) ที่ประมาณร้อยละ 20 
 

ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แม้ว่าเงินกู้ส่วนใหญ่ตามพระราชกําหนด กู้เงินฯ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท จะมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการ ดําเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านราคาพลังงาน วงเงินรวมประมาณร้อยละ 0.5 ของ GDP รวมถึงการอุดหนุนราคานํ้ามันดีเซลและ แก๊สหุงต้ม
 

ระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
 

เงินกองทุนและสภาพคล่องส่วนเพิ่มของธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่กําหนด และความสามารถในการทํากําไรเริ่มทรงตัวหลังจากที่ลดลงอย่างมีนัยสําคัญในปี 2563 ตัวชี้วัดคุณภาพสินทรัพย์มีความไม่แน่ชัด โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ณ สิ้นปี2564 แต่สัดส่วนของสินเชื่อดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้น 
 

แสดงให้เห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลง 
 

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ผู้กู้หลายประการ ที่รัฐบาลเพิ่งดําเนินการอาจบดบังสินเชื่อด้อยคุณภาพซึ่งมีแนวโน้มจะเปิดเผยออกมาหลังมาตรการเหล่านี้สิ้นสุดลงในปี 2565 
 

อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ต่อ GDP ณ สิ้นปี พ.ศ. 2564 และ หนี้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อ SMEs ทั้งหมดได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5  ในปี 2564 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนการระบาดที่อยู่แค่ร้อยละ 4.5- 5 
 

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยาย วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ SMEs จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2565 ในขณะที่ธุรกิจหลายแห่งเริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” (Asset ware-housing)
 

ปมใหญ่อยู่ที่ความยากจนและการว่างงาน คาดว่าจะลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานกลับลดลงและหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้จ่าย อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการลดลงเหลือร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 1/ 2565 จากร้อยละ 2.0 ในปีก่อนหน้า และความยากจนคาดว่าจะลดลงสู่ระดับก่อนการระบาดในปี พ.ศ. 2564 หลังจากที่เพิ่มขึ้น เล็กน้อยในปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้รับการบรรเทาจากมาตรการช่วยเหลือโควิด 
 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลง และหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง1ใน4 โดยมีปัจจัยหนุนจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการศึกษา
 

นี่คือภาพที่ธนาคารโลกมองไทย ท่านคิดอย่างไร
 

อย่าบอกนะว่า World Bank ไม่ใช่พ่อ!
 

ฉบับหน้ามาดู EP#2 แนวโน้มและความเสี่ยงกันนะพี่น้อง ของดีต้องทะยอยออก


หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,797 วันที่ 3- 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2565