สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ ต้องลงมือแก้ทั้งระบบ

25 มิ.ย. 2565 | 01:00 น.

บทบรรณาธิการ

สถานการณ์ราคาข้าวตลาดโลก กำลังอยู่ในทิศทางตกต่ำอย่างหนัก อันส่งผลสะท้อนมายังทิศทางราคาตลาดข้าวในประเทศ และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังรายได้ของชาวนาไทย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในท้ายที่สุด ซ้ำเติมเข้ากับกำลังซื้อที่หดหายจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ชาวนาย่อมได้รับผลกระทบ 2 แรงบวก กลายเป็นรายได้หด แต่ราคาค่าครองชีพสูงขึ้นเหมือนที่ทราบกันไปแล้วจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า สาธารณูปโภคจำเป็นที่ปรับตัวสูงขึ้น
     

สถานการณ์ราคาข้าวที่ตกต่ำมีปัจจัยประกอบหลายประการ ทั้งจากราคาตลาดโลกอันเนื่องมาจากอินเดียผู้ผลิตรายใหญ่และเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยและเวียดนาม เทสต๊อกข้าวออกมาในปริมาณมากพอสมควร ส่งผลให้ไปชิงลูกค้าในตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกา ที่หันไปลงออเดอร์กับอินเดียมากขึ้นด้วยราคาที่แตกต่างกับไทยอยู่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในชนิดข้าวขาว 
 

ประกอบกับระยะทางขนส่งจากอินเดียไปแอฟริกาไม่ไกลมากนัก เมื่อเปรียบเทียบระยะทางขนส่งจากไทย รวมทั้งต้นทุนการผลิตและผลผลิตต่อไร่ที่อินเดียทำได้ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไทยที่ขาดการพัฒนามานาน เมื่อผูกติดยึดโยงอยู่กับนโยบายประกันรายได้ 
     

นอกจากนี้ผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 กำลังทะยอยเข้าสู่ตลาด และในปีนี้น้ำท่าบริบูรณ์ส่งผลให้ผลผลิตของไทยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลกดทับราคาข้าวในประเทศลดลงทันทีตันละไม่น้อยกว่า 200 บาท ทำให้ชาวนาขายข้าวได้แค่ 8,000-9,000 บาทต่อตันหรือต่ำกว่านั้นในบางพื้นที่ แต่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยที่เป็นปัจจัยการผลิตหลักปรับตัวสูงขึ้นไปก่อนหน้านี้ จากปัญหาผลพวงสงครามยูเครน-รัสเซียที่มีการชะลอการส่งออกปุ๋ยบางชนิดออกมา

แม้โรงสี-ผู้ส่งออกจะได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อันทำให้การส่งออกข้าวก่อนหน้านี้ของไทยระยะ 6 เดือนแรกมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าเงินบาทอ่อนก็ยังไม่สามารถไปชดเชยหรือกลบการโค้ดราคาตลาดโลกให้ข้าวไทย อยู่ในสถานะเสียเปรียบน้อยที่สุดได้ เมื่อต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่ค่าเงินอ่อนตัวในทิศทางเดียวกัน
 

สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำมีแนวโน้มคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง แม้ทั่วโลกจะเผชิญวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราเห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหาทางรับมือช่วยเหลือชาวนา 4 ล้านครัวเรือน พร้อมทั้งทบทวนนโยบายบริหารจัดการข้าว แก้ไขทั้งระบบให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ลดต้นทุนให้กับชาวนา ดูแลตลอดวงจรข้าวไม่ให้มีการส่งผ่านต้นทุนหรือราคามาที่ชาวนาเร็วเกินไป เฉลี่ยทุกข์ แบ่งปันสุขให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งวงจรอยู่ร่วมกันได้