JTS ขาลงบิทคอยน์ ยิ่งขุด..ยิ่งขาดทุน

16 มิ.ย. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** เจ๊เมาธ์ได้ยินแต่เสียงบ่น...และเสียงด่า ออกมาจากนักลงทุนที่พากันเบื่อกับการเกาไม่ถูกที่คัน และค่าไม่รู้จัก “กาลเทศะ” รวมถึงการไม่รู้จักการเรียงลำดับความสำคัญว่ าอะไรควรทำก่อนทำหลัง หรืออะไรควรทำหรือไม่ควรทำของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ถามจริงๆ เถอะว่าไม่รู้ว่าตอนนี้นักลงทุนทั้งหลายเค้าต้องการความช่วยเหลือ ไม่มีใครต้องการให้ใครมาเหยียบซ้ำ โดยเพาะอย่างยิ่งเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมจากคนที่ควรจะมาช่วยหาทางออกให้อย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 

เฮ้อ...ขอเถอะนะคะท่านรัฐมนตรี ถ้าไม่มีอะไรทำก็ไปหาวิธีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน หรือ ดึงเงินลงทุนมาจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น อะไรที่ยังไม่เข้าใจก็เว้นไว้ให้คนอื่นที่รู้ดีกว่าเค้าเข้ามาทำ เพราะถ้าทำไม่เป็นแล้วมาวุ่นวายมากเกินไปมันมีแต่หนทางของความชิบหายเจ้าค่ะ
 

*** การปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงที่สุดในรอบ 30 ปีของเฟด เป็นไปเพื่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปีของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลบวกในทางตรงมากที่สุดคือ หุ้นในกลุ่มธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL KTB และ TTB เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยหมายถึงการมีรายรับที่ปรับสูงขึ้น โดยไม่ต้องไปขยายฐานลูกค้า หรือ หาตลาดเพิ่มเติม แม้ว่าทาง กนง.จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างก็มองตรงกันว่า ภายในครึ่งหลังของปี 65 ที่ประชุม กนง.อาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินทุนไหลออกและเงินเฟ้อที่กำลังปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกมาส่งสัญญาณของผู้ว่า ธปท. ที่บอกว่า ถึงเวลาต้องค่อยๆ ถอนคันเร่ง เพราะหากไม่ทำอะไรเลย...ผลกระทบเงินเฟ้อจะหนักกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยซะอีก
 

*** หุ้นอีกกลุ่มที่จะได้อานิสงส์จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ หุ้นกลุ่มประกันชีวิต ซึ่งเด่นที่สุดตอนนี้ก็หนีไม่พ้น BLA TIPH BUI AYUD THRE และ BKI ที่จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากการมีเงินทุนที่มาจากกรมธรรม์ระยะยาว ทำให้บริษัทประกันที่นำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้พันธบัตรรัฐบาล ต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ย และทำให้ประกันชีวิตที่นำเงินไปลงทุน ก็จะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนทางหุ้นประกันภัยที่มีปัญหาเนื่องจากประกันโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ต่างก็แพ้ภัยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาพูดถึงอีกแล้วเช่นกัน
 

***  คำพูดของ “บิล เกตส์” มหาเศรษฐี เจ้าของบริษัทเทคโลยีระดับโลกผู้ก่อตั้ง “บริษัทไมโครซอฟท์” ที่บอกว่าลงทุนใน “คริปโต-NFT” เพราะแท้จริงแล้วคือ “ทฤษฎีคนโง่” ที่เอาไปหลอกขายให้คนที่โง่กว่า ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ รวมไปถึงเหมืองขุดอย่าง JTS UPA ZIGA ECF AJA ต่างก็เข้าสู่ช่วงขาลง โดยเฉพาะทาง JTS ของเสี่ยพิชญ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดเต็มจัดหนักเรื่องการขุดบิทคอยน์มากกว่าใคร จนมีราคาหุ้นสูงเกือบ 600 บาท ก่อนที่จะปรับราคาลงมาอยู่ที่สองร้อยบาทนิดๆ พร้อมกับมีโอกาสสูงที่จะลงไปต่ำกว่านี้ได้อีกมาก 
 

เพราะถ้าหากว่าราคาบิทคอยน์ยังคงเคลื่อนที่อยู่ต่ำกว่าระดับราคา 23,000 ดอลลาร์/เหรียญบิทคอยน์ ต่อไปแบบนี้ก็หมายถึงว่าบริษัทกำลังเดินหน้าขาดทุนไปเรื่อยๆ เพราะต้นทุนในการขุดที่ถูกคำนวณจุดคุ้มทุนในการลงทุนเอาไว้ที่ราวๆ 32,000-35,000 ดอลลาร์/เหรียญบิทคอยน์ นาทีนี้การลงทุนทำเหมืองขุดบิทคอยน์ไม่ต่างไปจากการ “เดินชนตึก” นั่นคือ ถึงแม้จะรู้ว่าทำแล้วขาดทุนแต่ก็ยังต้องทำต่อไป จนกว่าจะหมดแรง...หรือหมดทุนกันไปข้างหนึ่งกันโน้นเลยทีเดียว
 

*** ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นของ JAS ปรับราคาขึ้นมาอย่างร้อนแรงทั้งที่บริษัทยังมีปัญหาเรื่องการขาดทุน เนื่องจากถูกมองว่า มีมูลค่าที่เพิ่มจากการถือหุ้นใหญ่ใน JTS และถ้าหากจะพูดถึงเรื่องมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของ JTS ที่มีมากกว่า 1.4 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าการถือครองหุ้นใน JTS ในอัตราส่วน 32.8% ของ JAS มีมูลค่าที่สูงมากกว่ามูลค่าของ JAS ทั้งบริษัทรวมกันซะอีก 
 

ขณะที่ราคาหุ้นของ JTS ปรับราคาสูงขึ้นมาได้ขนาดนี้เป็นเพราะเรื่องของธุรกิจการทำเหมืองขุดบิทคอยน์ แต่ถ้าในอนาคตเหมืองขุดบิทคอยน์มีอันต้องล่มสลายลงไป เพราะความไม่คุ้มค่าที่จะทำก็จะทำให้ทั้ง JTS และ JAS ต่างก็กลับไปอยู่ที่เดิมแบบที่เคยเป็น ในส่วนของ JTS ก็จะเป็นบริษัทที่มีกำไรจากธุรกิจเดิมอยู่บ้างแต่ก็จะขาดทุนจากการทำเหมืองขุด ส่วนทางด้านของ JAS กลับจะกลายเป็นว่ามีแต่ธุรกิจขาดทุนที่เหลืออยู่ในมือเท่านั้นเอง
 

*** ในขณะที่บริษัทใน “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” อย่าง CPF CPALL และ TRUE ต่างก็ประสบปัญหาการขึ้นไปถึงจุดสูงสุด แล้วไม่รู้ว่าราคาหุ้นจะไปในทิศทางไหน จนทำให้ราคาหุ้นของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ต่างก็เป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆ สวนทางกับบริษัทที่มีตัวย่อ CP แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” เช่น บมจ.คาสเซ่อร์พีคโฮลดิ้งส์ หรือ CPH บมจ.ซีพีแอล กรุ๊ป หรือ CPL และ บมจ.ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียล หรือ CPR ที่ต่างก็พากันขยับราคาอย่างร้อนแรง...ปั่นราคากันสนุกโดยไม่มีบริษัทไหนถูกจับติดแคชฯ เลยสักแห่ง
 

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะพื้นฐานทางธุรกิจดี มีค่าพีอีที่ต่ำ ก็เลยได้สิทธิ์ในการซิ่งผ่านได้ตลอด หรือเป็นเพราะการมีตัวย่อของ CP มาแปะเอาไว้กลายเป็นการสับขาหลอก ทำให้ผู้ดูแลตลาดฯ หลงคิดว่าเป็นหุ้นในเครือของเจ้าสัวหรือเปล่าน๊า ก็แค่แซวเล่นเท่านั้นนะคะ จริงๆ แล้วเจ๊เมาธ์แค่อยากจะรู้ว่าการซิ่งแรง การลากแล้วตบแบบนี้ ทำไมไม่โดนจับติดแคชฯ บ้าง ก็เท่านั้นเองเจ้าค่ะ 
 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,793 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565