เหตุผลในการเลือกใช้ชีวิตในบ้านพักคนวัยเกษียณ

03 มิ.ย. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้นั่งคุยกับเพื่อนสนิทท่านหนึ่ง เขาถามผมว่า “ทำไมเราต้องเลือกไปใช้ชีวิตยามชราหลังเกษียณในบ้านพักคนชราด้วยละ ในเมื่อที่ประเทศไทยเรา แม้คนทำงานบ้านหรือกลุ่มแรงงานที่ทำงานด้านการดูแลคนชรา จะหาค่อนข้างยาก แต่ค่าแรงงานค่อนข้างจะถูก ถ้าเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว และถ้าหาแรงงานไทยไม่ได้จริงๆ ยังมีแรงงานประเทศเพื่อนบ้านก็ยังพอจะหาได้” 


ผมไม่มีเหตุผลที่จะมาหักล้างเพื่อนท่านนี้ได้เลยครับ ได้แต่นั่งคิดหลังจากที่ท่านลากลับไปแล้ว ก็เอ่อ...นะ แล้วทำไมละ? น่าคิดมากครับ

ผมมาย้อนคิดถึงปีที่ผมไปเปิดร้านอาหารไทยในฮ่องกง เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน ในยุคนั้นร้านผมตั้งอยู่ที่คอสเวย์เบย์ อยู่หลังห้างโซโก้ ทุกวันอาทิตย์ จะมีแรงงานฟิลิปปินส์ ที่มาทำงานอยู่ที่ฮ่องกง ต่างมารวมตัวพบปะสังสรรค์กันทุกอาทิตย์ที่นี่ 


ซึ่งผมเป็นคนที่ชอบซอกแซกถามโน่นถามนี่ ก็ได้ทราบว่างานที่แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์มาทำกันนั้น มีงานดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เป็นหนึ่งในตำแหน่งงานยอดนิยมของเขาเลยทีเดียวครับ เพราะคนจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคนั้น จะข้ามมาทำงานในฮ่องกงยากมาก แม้จะมีข้ามมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่ข้ามมาได้ ก็จะหลบหนีข้ามแดนมากันอย่างผิดกฎหมาย

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของแรงงานชาวฟิลิปปินส์กันครับ อีกทั้งในยุคนั้นบ้านพักคนชราส่วนใหญ่ จะเป็นคนชราที่ป่วยติดเตียงเท่านั้น จึงจะเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชราได้ 


ในขณะที่คนชราที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือคนวัยเกษียณ ยังไม่มีใครทำธุรกิจนี้เลย อีกทั้งธุรกิจนี้เพิ่งจะมาบูมเอาช่วงต้นๆ ของปีค.ศ.2000 ดังนั้นจึงยังไม่มีทางเลือกอื่นให้เลือกครับ
      

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุดในยุคนั้น ก็คือประเทศฟิลิปปินส์นี่แหละครับ เพราะประชาชนของเขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมาก เนื่องจากเคยอยู่ในการปกครองของฝรั่งมังค่ามาก่อน 


อีกทั้งยังมีการเปิดสอนด้านพยาบาลและผู้บริบาลมาช้านาน จนกระทั่งแย่งตลาดแรงงานของประเทศไทยเราในสหรัฐอเมริกาไปจนเกือบจะหมดเลยครับ ทั้งๆที่ในอดีต พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศไทยเรา ได้เดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาเยอะมากๆ 


แต่หลังยุคปี 90 ไปแล้ว ถูกฟิลิปปินส์กลืนไปจนแทบไม่เหลือเลยครับ ย้อนมาดูที่ฮ่องกงกันครับ หลังจากยุคทองของแรงงานแม่บ้านในปีค.ศ.2000 เป็นต้นมา จนกระทั่งก่อนยุค COVID-19 แน่นอนว่าแรงงานด้านนี้ที่ฮ่องกง ได้ถูกแม่บ้านฟิลิปปินส์เอาไปกินหมด 


แต่หลังจากนี้ไป ผมก็เชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ สะดวกมากๆ ในขณะที่ธุรกิจด้านบ้านพักคนวัยเกษียณของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาก้าวหน้ามากๆ 


อีกทั้งไม่มีอุปสรรคด้านภาษาที่เขาใช้ภาษากวางตุ้งเหมือนกันหมด จึงเชื่อว่าทางเลือกของชาวฮ่องกงต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนครับ
 
    
ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเอง เขาน่าจะเป็นผู้นำด้านบ้านพักคนวัยเกษียณในยุคนี้อย่างไม่มีประเทศอื่นตามทันแน่ๆ ครับ เพราะปัจจุบันนี้บ้านพักคนวัยเกษียณของประเทศญี่ปุ่นมีมากกว่า 38,000 แห่ง ทุกแห่งต่างแย่งกันหาช่องทางในการให้บริการกันอย่างรุนแรง 


ทำให้การพัฒนาของธุรกิจนี้ เป็นไปอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากงานแฟร์หรือ Healthcare Exhibition ที่จัดกันเป็นประจำทุกปี ปีละหลายๆ ครั้ง ทุกครั้งจะมีสินค้าใหม่ๆ นำมาแสดงเสมอครับ นี่คือวิวัฒนาการของญี่ปุ่นเขา 
    

เว็บไซต์ทางด้านนี้ของญี่ปุ่นเอง ก็มีเกิดขึ้นเยอะมาก ผมเองก็ชอบที่จะเข้าไปหาดูความรู้ใหม่ๆ จากเว็บไซต์ของญี่ปุ่นนี่แหละครับ จากนั้นถ้าเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ก็จะนำมาเล่าสู่พวกเราฟังครับ อย่างคำถามที่เพื่อนผมเปิดประเด็นไว้ให้ผมคิด 


ผมเองก็มีโอกาสเข้าไปอ่านหาคำตอบในเว็บไซต์ของญี่ปุ่นเขาดูเหมือนกัน แต่ก็ได้มานิดๆ หน่อยๆ แม้จะไม่ตรงประเด็นตามที่เพื่อนเปิดประเด็นถาม แต่ก็พอจะเห็นภาพได้บ้างเล็กน้อยครับ
        

มีเว็บไซต์หนึ่งชี่อว่า เว็บ Lifull เขาได้มีการทำการสำรวจหัวข้อว่า “การสำรวจหาข้อเท็จจริงในการหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุญี่ปุ่น ที่จะใช้ชีวิตยามแก่ชราที่บ้านพักคนวัยเกษียณ” 


จากวิธีการสำรวจซึ่งเป็นการวิจัยทางอินเทอร์เน็ต ระยะเวลาสำรวจตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน - 10 เมษายน 2014 เป้าหมายการสำรวจเป็นเพศชายและเพศหญิง 1,630 ท่านที่ย้ายเข้ามาอยู่ในสถานบริการผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ถึง 79 ปีทั่วประเทศ 


ได้พบว่า เหตุผลที่เขาเลือกมาใช้ชีวิตในบ้านพักคนวัยเกษียณเพราะ (1) ครอบครัวของคนส่วนใหญ่จะมีลูกหลานในจำนวนจำกัด จึงไม่มีคนดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุในบ้านตนเอง (2) อาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้สะดวก ดังนั้นถ้าพักอยู่ที่บ้านพักคนวัยเกษียณจะมีผู้บริบาลดูแลได้ดีกว่าอยู่ที่บ้านตนเอง 


(3) ค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยของการอยู่ที่บ้านตนเอง ถ้าเปรียบเทียบกับการอาศัยอยู่ที่บ้านผู้สูงอายุแล้วจะถูกกว่าอยู่ที่บ้าน เพราะอาหารการกินและค่าที่พักอาศัยที่ประเทศญี่ปุ่นแพงมาก (4) ไม่เป็นภาระให้แก่ลูกหลานในการดูแล (5) ได้อยู่ในสังคมที่มีวัยใกล้เคียงกัน มากกว่าอยู่ที่บ้าน (6) มีเงินสวัสดิการช่วยเหลือจากทางภาครัฐมาช่วยแบ่งเบาภาระได้ครับ

       
จะเห็นว่าแม้คำตอบว่าทำไม???? จะไม่สามารถนำมาใช้ในสังคมประเทศไทยเราได้ แต่ถ้าหากมองไปยังอนาคต ผมก็เชื่อว่าสักวันหนึ่ง เมื่อสังคมของประเทศไทยเปลี่ยนไปเป็นสังคมผู้สูงวัย เศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตมากกว่านี้ 


รัฐบาลมีงบประมาณในการดูแลผู้สูงวัย  และการพัฒนาทางด้านธุรกิจนี้ เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่เจริญมากขึ้น การแข่งขันของภาคธุรกิจก็จะมีผู้เล่นมากขึ้น ทางเลือกก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันครับ