การเงินดิจิทัลและแรงงานนอกระบบ

14 ก.พ. 2567 | 11:35 น.

การเงินดิจิทัลและแรงงานนอกระบบ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ขวัญตา หมั่นวิชาชัย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เล็ทสเคป จำกัด หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,776 หน้า 5 วันที่ 21 - 23 เมษายน 2565

แรงงานนอกระบบและเศรษฐกิจนอกระบบ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของไทยเป็นอย่างมาก จากการประมาณของ Medina and Schneider (2018) พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเศรษฐกิจนอกระบบของไทย มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 50.6 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี  2564 ผู้มีงานทำในประเทศไทย จำนวน 19.6 ล้านคน (ร้อยละ 52) เป็นผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือที่เรียกกันว่า “แรงงานนอกระบบ” นั่นเอง โดยในจำนวนนี้มี 8.3 ล้านคนทำงานอยู่ใน ภาคบริการ การค้า และการผลิต และจำนวน 11.4 ล้านคนทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม

 

 

 

ปัญหาหนึ่งที่แรงงานกลุ่มนี้ประสบ คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะบริการจากสถาบันการเงินที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ (สถาบันการเงินในระบบ เช่น ธนาคารบริษัทสินเชื่อ บริษัทประกันภัย เป็นต้น) ส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมทาง การเงินของแรงงานกลุ่มนี้สูงกว่าแรงงานในระบบ 

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงกว่าจากการใช้บริการจากผู้ให้บริการการเงินนอกระบบ จากสถานะการทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือ ไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน

 

 

 

ประกอบกับข้อมูลรายได้ที่พบว่า กลุ่มแรงงานนอกระบบมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 6,853 บาท เทียบกับรายได้เฉลี่ย 15,154 บาทของกลุ่มแรงงานในระบบ จะเห็นได้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ซึ่งเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในประเทศไทยเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการ เงินค่อนข้างมาก 

จากการสำรวจแรงงานนอกระบบในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจำนวน 400 คน ซึ่งผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่าบริการสินเชื่อเป็นบริการที่แรงงานกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงมากที่สุด โดยร้อยละ 33.2 เป็นผู้กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินนอกระบบ  

 

การเงินดิจิทัลและแรงงานนอกระบบ

 

จากข้อมูลการสัมภาษณ์พบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ ไม่สามารถเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินในระบบได้นั้น เนื่องมาจากการมีรายได้น้อย และการขาดหลักฐานรายได้ที่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินในระบบ เช่น สลิปเงินเดือน 

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินและเงื่อนไขการใช้บริการ การมองว่า บริการของสถาบันการเงินในระบบมีขั้นตอนและการใช้เอกสารจำนวนมาก เข้าถึงยาก

ประกอบกับแรงงานกลุ่มนี้ ไม่มีเวลาที่จะเข้าไปติดต่อขอรับบริการ การอนุมัติช้าก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แรงงานในกลุ่มนี้หลายคนเลือกใช้บริการแหล่ง เงินกู้นอกระบบ ที่เข้าถึงง่ายกว่าและรวดเร็วกว่า ถึงแม้ว่าจะต้องรับภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่าและเสี่ยงต่อการทวงหนี้ด้วยวิธีที่รุนแรงก็ตาม  

การเงินดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ในการลดต้นทุนการใช้บริการทางการเงินของ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบมากขึ้น  

จากการสำรวจของผู้เขียนพบว่า แรงงานนอกระบบในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีการใช้งานการเงินดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 86 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งานในลักษณะการโอนเงินหรือ จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร และกระเป๋าเงินดิจิทัล (e- wallet) (ภาพที่ 1)  

 

การเงินดิจิทัลและแรงงานนอกระบบ

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีแพลต ฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่เชื่อมผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการที่เป็นแรงงานนอกระบบเช่น แพลตฟอร์มจ้างแม่บ้าน ช่างซ่อมบำรุง บริการรับ-ส่งอาหารและสิ่งของ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลจากธุรกรรมทางการเงินออนไลน์และข้อมูลรายได้จากแพลต ฟอร์มต่างๆ สามารถใช้ในการประเมินความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของ แรงงานนอกระบบได้ทดแทนข้อมูลจากสลิปเงินเดือน   

ณ ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ได้ปลดล็อคให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุมัติ สามารถใช้ข้อมูลทางเลือก หรือ ข้อมูลหลายประเภทเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลได้

โดยผู้ประกอบธุรกิจรายแรกได้รับอนุมัติในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 และ ณ เดือนมีนาคม 2565 มีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติจาก ธปท. เพื่อให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 9 ราย

จากแนวโน้มการเติบโตของการเงินดิจิทัลในต่างประเทศ แรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของโรค
โควิด-19 ประกอบกับแพลตฟอร์มทางการเงินในไทย ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งใช้งานทางแอปพลิเคชั่น ใช้งานผ่านคิวอาร์โค้ด หรือ ใช้งานทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

การให้บริการการเงินดิจิทัลในรูปแบบสินเชื่อ จึงเป็นรูปแบบการให้บริการที่น่าจับตามองว่า จะสามารถทำให้แรงงานนอกระบบที่มีอยู่เกือบ 20 ล้านคนทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงตามความต้องการ ในอัตราค่าบริการที่ถูกลงได้หรือไม่

ทั้งนี้ผู้ให้บริการการเงินดิจิทัลรูปแบบสินเชื่อ จึงควรทำความเข้าใจความคาดหวัง และความต้องการแรงงานกลุ่มนี้ เพื่อคำนึงถึงวิธีและรูปแบบที่เข้าถึงได้อย่างเหมาะสม