การไล่สมาชิกในครอบครัวออกจากธุรกิจ

03 เม.ย. 2565 | 01:05 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในธุรกิจครอบครัวนั้นการจะแยกครอบครัวออกจากธุรกิจอาจเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือการที่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้ทำงานในส่วนของตัวเองอย่างเต็มที่ในบริษัท ซึ่งการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ยากที่สุดปัญหาหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเผชิญ

 

คำถามว่า ควรไล่สมาชิกในครอบครัวออกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่มีบทบาทในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับพนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานในลักษณะที่ธุรกิจต้องการ ทั้งนี้การตัดสินใจควรเกิดขึ้นหลังจากพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้อย่างรอบคอบแล้ว

 

1. รูปแบบธุรกิจครอบครัว ปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือรูปแบบธุรกิจครอบครัว และวิธีสร้างการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งธุรกิจครอบครัวมี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

 

#รูปแบบเน้นครอบครัว (Family-First) เน้นความสุขและความสามัคคีในครอบครัวควรมาก่อนสิ่งอื่นใด สำหรับรูปแบบนี้จะไม่ทราบแน่ชัดถึงความแตกต่างในด้านคุณภาพและระดับของการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัวที่มีต่อธุรกิจ

 

#รูปแบบเน้นธุรกิจ (Business-First) การตัดสินใจทั้งหมดมุ่งเน้นให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทก่อน และความต้องการของครอบครัวเป็นเรื่องรอง รูปแบบนี้จะให้รางวัลสำหรับการทำงานหนัก ส่งเสริมความสำเร็จร่วมกัน และขับเคลื่อนโดยการเติบโตและโอกาสในการประสบความสำเร็จของแต่ละบุคคล

 

#รูปแบบวิสาหกิจครอบครัว (Family Enterprise) รูปแบบนี้จะแยกความแตกต่างและสร้างสมดุลระหว่างรูปแบบเน้นครอบครัวและเน้นธุรกิจ โดยการตัดสินใจทั้งหมดมุ่งสร้างสมดุลระหว่างความพึงพอใจของครอบครัวและสุขภาพทางเศรษฐกิจของธุรกิจ

ธุรกิจครอบครัว

สำหรับรูปแบบเน้นครอบครัวนั้นการไล่พนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวออกจะเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากที่หมดหนทางอื่นแล้ว ขณะที่รูปแบบเน้นธุรกิจการไล่สมาชิกในครอบครัวออกอาจเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหานั้นๆ และรูปแบบวิสาหกิจครอบครัวการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลกิจการที่ใช้อยู่ในองค์กร ทั้งนี้การเลือกรูปแบบธุรกิจครอบครัว 1 ใน 3 รูปแบบจะช่วยให้สามารถสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้นในสถานการณ์เหล่านี้

 

2. ค่านิยม ในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัว ท่านคิดว่าตนเองเป็นพ่อแม่/พี่น้องหรือเจ้านายเมื่อต้องรับมือกับสมาชิกในครอบครัวที่เป็นปัญหา แม้ว่าเลือดข้นกว่าน้ำ แต่เลือดข้นกว่าความต้องการของธุรกิจหรือไม่ หากยังไม่มีรูปแบบธุรกิจครอบครัวที่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องดำเนินตามค่านิยมของตนเองและตัดสินใจให้ดีที่สุดเพื่อให้พวกเขาพึงพอใจ

 

3. ขั้นตอนการพัฒนาธุรกิจ หากธุรกิจกำลังเติบโตและมีแผนจะสรรหาผู้นำจากภายนอกเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาไม่อยากมีปัญหากับพนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวแน่ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือ การสรรหาคนที่มีความเหมาะสมกว่าสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในบริษัทเข้ามาทำงาน

 

4. วัฒนธรรม วัฒนธรรมของธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญอย่างมาก หากมีพนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ทำลายวัฒนธรรมย่อมจะเกิดปัญหาแน่นอน แต่ไม่ใช่ทุกกรณีจะรุนแรงขนาดนั้น ควรพิจารณาว่าบุคคลนั้นมีผลกระทบต่อผู้อื่นในบริษัทอย่างไรและแสดงออกถึงค่านิยมของบริษัทหรือไม่ ปัญหาการขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคนั้นสามารถแก้ไขได้ แต่ปัญหามีคนมาทำลายวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อันตรายกว่ามาก

 

ความจริงแล้วไม่มีผู้นำธุรกิจครอบครัวคนไหนอยากไล่สมาชิกในครอบครัวออก และส่วนใหญ่มักเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากสมาชิกในครอบครัวขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค แต่เป็นคนทำงานหนักและมีอิทธิพลเชิงบวกต่อวัฒนธรรม อาจแก้ปัญหาโดยการย้ายไปยังแผนกอื่น หรือหาตำแหน่งใหม่ให้

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องซื่อสัตย์กับตัวเองและครอบครัว นั่นหมายถึงควรมีการพูดคุยกันแม้เป็นเรื่องยากซึ่งธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยง ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นแม้จะทำได้ยาก แต่อาจทำให้สามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะกับครอบครัว พนักงานที่เป็นสมาชิกในครอบครัว และธุรกิจครอบครัวได้

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,770 วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2565