“อาคเนย์-ทิพย” ไม่จ่าย...ไม่จบ

22 มี.ค. 2565 | 23:30 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** ก่อนหน้านี้บริษัทประกันภัยอย่าง “อาคเนย์ประกันภัย” บริษัทในกลุ่มของ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ THG ซึ่งอยู่ภายใต้อาณาจักรธุรกิจของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ก็ต้องมาแพ้ภัยตัวเองจนต้องปิดกิจการลง เพราะการขายกรมธรรม์ประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” โดยที่ไม่ประเมินความสามารถในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ ในกรณีที่มีติดเชื้อและเอาประกันเต็มจำนวน ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็คือคิดแค่ว่าจะมีแต่ “ได้แบบไม่ต้องจ่าย” ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คิด ก็ต้องดิ้นหนีสุดตัวเพื่อที่จะจ่ายชดเชยให้น้อยที่สุดนั่นเอง
 

*** ล่าสุดกรณีที่กำลังเป็นเรื่องของ “ทิพยประกันภัย” บริษัทในเครือของ บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์   (TIPH) กำลังถูกจับตาในเรื่องของความน่าเชื่อถือ เพราะแม้ “ทิพยประกันภัย” จะออกตัวว่าไม่เคยขายกรมธรรม์ประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” โดยจะขายความคุ้มครองจากกรณีการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว แต่การมีกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ประกันของบริษัทมาเรียกร้องขอเงินชดเชยการรักษาพยาบาล จากการติดเชื้อโควิด จนถึงขนาดต้องเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งกัน ก็น่าจะไม่ธรรมดา 

ยิ่งเมื่อทาง “ทิพยประกันภัย” บอกว่าผู้เอาประกันไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ เมื่อวันที่ 4 มกราคม ปีนี้ ขณะที่กลุ่มลูกค้าเองก็บอกว่าบริษัท “เลี่ยงบาลี” ไม่ยอมรับผิดชอบเพราะเงื่อนไขที่บริษัทอ้างถึงไม่มีระบุในกรมธรรม์ประกันเอาไว้ตั้งแต่ต้น เจ๊เมาธ์ คิดว่าการร้องเรียนเพื่อเรียกค่าสินไหมแบบนี้ ถ้าไม่จบลงที่ คปภ. ก็คงจะต้องจบลงที่ศาล แต่ปัญหาคือ ถ้าไม่ชี้แจ้งหรือไม่ทำให้เกิดความชัดเจน ก็จะส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เกิดปัญหา จะยังไงก็อย่าให้ถึงขนาดได้ชื่อว่า TIPH เป็นบริษัทที่ “หากินบนความไม่รู้” ของลูกค้าก็แล้วกันเจ้าค่ะ


*** จังหวะนี้ลูกกตัญญูอย่าง PTTEP PTTGC TOP และ IRPC ทำให้ PTT เป็นบริษัทที่ได้อานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แบบที่แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รอรับส่วนแบ่งรายได้ที่มาจากบริษัทลูกเพียงอย่างเดียวก็มากพอที่จะทำให้ PTT มีทั้งรายได้และกำไรที่โดดเด่นสุดๆ ในการแจ้งผลการดำเนินงาน 1/65 นี่ยังไม่รวมแผนงานในอนาคตที่เกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจรถไฟฟ้า (EV) แบบครบวงจรในช่วงปี 65-69 ที่คิดเป็นเงินกว่า 9.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งส่วนของการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ และสถานีซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า โดยทั้งหมดนี้จะทำให้ภาพของ PTT ในอีก 5 ปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่เราแทบจะจำไม่ได้เลยทีเดียว เตือนไว้เลยว่าถ้าไม่เก็บหุ้นราคาถูกตั้งแต่วันนี้...อาจจะไม่มีของถูกให้เก็บอีกแล้วก็เป็นไปได้เจ้าค่ะ 

*** ในขณะที่สงครามทำให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าหลายรายต้องเผชิญหน้ากับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าราคาหุ้นของ EA ไม่ได้รับผลกระทบเพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ EA ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ ล้วนแล้วแต่เป็นของฟรีทั้งนั้น 


ขณะเดียวกันสงครามก็ทำให้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรของ EA กับพันธมิตรอย่าง NEX และ BYD กลายเป็นทางเลือกใหม่ของการลดต้นทุนที่ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของรถเพื่อการพาณิชย์ทั้งรถบัสและรถบรรทุกซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีคู่แข่งน้อยจะกลายเป็นธุรกิจทำเงินให้ทั้ง EA NEX และ BYD ได้อย่างงามในอนาคตนั่นเอง
 

*** เจ๊เมาธ์มั่นใจว่าหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นอย่าง TOP IRPC BCP SPRC ESSO รวมไปถึง PTTGC (30% เป็นรายได้จากการกลั่นน้ำมัน) สามารถไปต่อได้อีกไกล อย่างแรกคือ เรื่องของราคาหุ้นที่ตั้งแต่ประสบปัญหาเรื่องโควิด ราคาหุ้นโรงกลั่นเหล่านี้ ก็ยังฟื้นตัวได้ยังไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนเรื่องที่สอง คือค่าการกลั่น ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายปีจะดันให้โรงกลั่นเหล่านี้มีรายได้และกำไรที่โตขึ้นมาแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ยังจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไปอีกนานพอสมควร แน่นอนว่า ถ้าจะถือยาวหุ้นโรงกลั่นเหล่านี้ อาจจะดูไม่น่าสนใจมากเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเล่นเก็นกำไรระยะ 1-2 เดือนก็ไม่น่าจะทำให้ผิดหวังเจ้าค่ะ 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565