จากอาเซียนถึงไทย มองทิศทางภาษีหลังโควิด-19

03 มี.ค. 2565 | 07:21 น.

จากอาเซียนถึงไทย มองทิศทางภาษีหลังโควิด-19 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ ([email protected]) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,762 หน้า 5 วันที่ 3 - 5 มีนาคม 2565

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา หนี้สาธารณะของแทบทุกประเทศรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆมุ่งหน้าหารายได้เพื่อชดเชยภาระการคลังนี้ ในขณะเดียวกันวิกฤตินี้มาพร้อมกับความเหลื่อมลํ้าที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นรวมไปถึงระเบียบภาษีโลกที่เปลี่ยนไปภายใต้สถานการณ์นี้นโยบายภาษีของอาเซียนจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในบทความนี้ผมชวนท่านผู้อ่านพูดคุยเรื่องนี้กันครับ โดยผมแบ่งเป็น 3 แนวโน้มกว้างๆ ดังต่อไปนี้

 

1. การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

แนวโน้มแรกคือ ความพยายามที่จะขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ถือว่าเป็น Revenue machine ของรัฐบาลแทบทุกประเทศเนื่องจากเป็นภาษีที่เก็บบนการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งการโยกย้ายการบริโภคหรือการหลบเลี่ยงภาษีทำได้ยากกว่าภาษีอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศนึกถึงภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นลำดับแรกเมื่อต้องการรายได้เพิ่มขึ้น 

 

ตัวอย่างได้แก่ อินโดนีเซียซึ่งจะขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เป็น 11% ปี 2022 และ 12% ในปี 2025 รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ประกาศจะขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน จาก 7% เป็น 8% ปี 2023 และเป็น 9% ในปี 2024 ในขณะที่ประเทศที่ได้ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มไปเมื่อปี 2018 อย่างมาเลเซีย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจก็ยังยอมรับว่ากำลังพิจารณาแผนที่จะนำภาษีมูลค่าเพิ่มนี้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง 

 

นอกจากประเทศในอาเซียนแล้ว ประเทศในภูมิภาคอื่นก็มีความพยายามที่จะหารายได้เพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เช่นกัน แต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกันขึ้นกับคุณลักษณะของโครงสร้างภาษี โดยประเทศในยุโรปจะเน้นที่การยกเลิกการยกเว้น (VAT exemption) และอัตราภาษีพิเศษ (Reduced VAT rates) เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมักจะมีหลายอัตราภาษี และมีอัตราภาษีหลักที่สูงอยู่แล้ว

 

2. การเก็บภาษีคนรวย

 

แนวโน้มที่สองคือ การเพิ่มความก้าวหน้า (Progressivity) ให้แก่ระบบภาษีผ่านการเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูง และรายได้จากทุน (Capital income) 

 

ในภูมิภาคเรา รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มขยับด้านนี้เร็วที่สุดโดยได้ปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเพิ่มขั้นบันไดสูงสุดจากเดิม 30% เป็น 35% สำหรับมหาเศรษฐีที่มีรายได้เกิน 5 พันล้านรูเปีย (ประมาณ 11.3 ล้านบาท) พร้อมกับยกเลิกแผนการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 22% ลงมาให้เท่ากับของไทย 

 

จากอาเซียนถึงไทย  มองทิศทางภาษีหลังโควิด-19

 

 

ในขณะที่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศภาษีตํ่า (Low-tax jurisdiction) อย่างสิงคโปร์ก็ขยับตัวเช่นกัน โดยได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับขั้นบันไดสูงสุดจาก 22% เป็น 24% ในปี 2024 และขึ้นภาษีอสังหาริมทรัพย์ (Property tax) ในปี 2023 และ 2024 

 

นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ยอมรับว่ากำลังพิจารณาการเก็บภาษีจากคนรวยอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายรวมถึงภาษีรายได้จากการขายหุ้น (Capital gains tax) ภาษีเงินปันผล และภาษีความมั่งคั่ง (Wealth tax) 

 

3. การลดทอนการพึ่งพิงสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อดึงดูด FDI 

 

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการแข่งขันทางด้านภาษีที่สูงสุดภูมิภาคหนึ่ง อย่างไรก็ตามข้อตกลงการกำหนดอัตราภาษีเงินได้ขั้นตํ่า (Global minimum income tax) ในระดับ อย่างน้อย 15% จะส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อการวางนโยบายภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนต่อจากนี้

 

ภายใต้ข้อตกลงนี้ กลุ่มบริษัท(Corporate groups) จะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมจากทุกประเทศอย่างน้อย 15% ซึ่งหากกลุ่มบริษัทมีการจ่ายภาษีไม่ถึงเกณฑ์นี้ รัฐบาลของประเทศที่แต่ละกลุ่มบริษัทนี้จด Headquarter อยู่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บภาษี top up ภาษีให้ถึง 15% นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านคาดหวังว่าข้อตกลงนี้จะช่วยลดแรงกดดันการแข่งขันภาษีระหว่างประเทศ รวมไปถึงปรากฎการณ์ ‘Race to the bottom’ ของอัตราภาษีที่รัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนต้องเผชิญ

 

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ การที่ข้อตกลงนี้จะลดทอนความน่าสนใจของสิทธิประโยชน์ภาษีในรูป Tax holiday ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนที่ได้รับ Tax holiday อาจจะมีหน้าที่ต้องไปจ่ายภาษี Top up ในประเทศที่ Headquarter ของตนตั้งอยู่ หาก อัตราภาษีรวมของกลุ่มบริษัทตนไม่ถึงเกณฑ์ 15% 

 

ทางออกของเรื่องนี้คือ รัฐบาลต่างๆ ในอาเซียนจะต้องปรับนโยบายสิทธิประโยชน์ภาษีของตนไปเป็นเครื่องมืออื่นที่เชื่อมโยงโดยตรงต่อปริมาณการลงทุน เช่น การหักค่าเสื่อมราคา และการชดเชยการขาดทุน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจสูงเท่า Tax holiday และในโลกหลังโควิด-19 เราหวังจะเห็นการลดการพึ่งพาสิทธิประโยชน์ภาษีลง และการให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น

 

Lawrence Wong (รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสิงคโปร์) ได้กล่าวไว้ ในการสัมภาษณ์ช่วงต้นปี 2022 นี้ว่า “A fairer and more progressive way of tax contributions will help to hold Singapore’s society together as it enters a new post-pandemic future that’s set to be more volatile” เพราะการชำระภาษีไม่ได้เป็นเพียงแค่หน้าที่ของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาทางสังคมระหว่างประชาชน และรัฐบาลที่มีหน้าที่ต้องใช้จ่ายเงินภาษีอย่างรู้ คุณค่าและเก็บภาษีจากกลุ่มคนต่างๆด้วยความเป็นธรรม