ล้ม “อนุทิน” เลิกรักษาฟรีโควิด นัยการเมืองปรอทแตก

22 ก.พ. 2565 | 11:50 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติหัก “อนุทิน ชาญวีรกุล" สั่งให้ยกเลิกการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะยกเลิกใช้ระบบ UCEP รักษาโควิดฟรีสำหรับกลุ่มบัตรทอง-ประกันสังคม บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ในกรณีวิกฤติฉุกเฉิน โดย ครม.ให้คงใช้สิทธิ์ UCEP ได้ต่อไป


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ. ) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เลื่อนการออกประกาศยกเลิกการใช้ระบบ UCEP รักษาผู้ป่วยโควิดกรณีวิกฤติ-ฉุกเฉินออกไปก่อน จากที่มีการลงนามในประกาศไปให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป

ครม.ให้เหตุผลว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลัก “เจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่”หรือ ยูเซ็ปที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่อไปก่อน 


ก่อนการประชุมครม. เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ในช่วงเวลา 08.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  เรื่องของสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือ UCEP ยืนยันว่า ไม่ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่รักษาตามสมมติฐานของโรค

กล่าวคือ ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ ที่ไม่แสดงอาการไม่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสีเขียว จะใช้การรักษาแบบรักษาตัวที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอยชุมนุม 


ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองขึ้นไปจนถึงสีแดง คือ ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบยูเซปได้ และสามารถรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง ที่จำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อให้เตียงมีจำนวนว่างมากที่สุด รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ ให้มีเพียงพอ 


นายอนุทิน ชี้แจงว่า หากผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ ถ้าทุกคนแห่ไปที่โรงพยาบาล ก็จะมีปัญหา เพราะไม่ได้มีเฉพาะแค่โควิด อย่างเดียว ยังมีโรคอื่น ดังนั้นเราต้องบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้ดี


“ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไป การรักษาผู้ติดโควิด-19 จะเป็นไปตามสิทธิรักษาพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาฟรีได้ในรพ.ที่แต่ละคนมีสิทธิ์อยู่ แต่หากมีอาการป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามเกณฑ์ของการรักษาฟรีทุกที่ (UCEP) ก็ยังสามารถรักษาฟรีได้ทุกที่เช่นเดิม” อนุทิน ชาญวีรกูล ชี้แจง


นับเป็นการเหยียบเบรกมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุข ได้เป็นครั้งแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


ก่อนหน้านี้จะยับยั้งห้ามเดินทางมาออนไซต์ในสถานีกลางบางซื่อ ของกระทรวงสาธารณะสุข กับ กระทรวงคมนาคม ยังทำไม่ได้เลย


ขนาดประกาศเบรกการจัดซื้อ ATK ของนายกฯ ลุงตู่ ยังมีการดื้อตาใส โดยที่คำสั่งของนายกฯ กลายเป็นน้ำยาบ้วนปากเลย


แต่มติครม.รอบนี้ต้องบอกว่า มีนัยทางการเมืองชัดๆ ว่า รัฐบาลยึดประโยชน์ประชาชนโดยไม่สนการขี่คอทางการเมือง เรียกว่า เป็นการทำให้เห็นว่า ลุงตู่เข้มแข็ง


แข็ง....ท่ามกลางการรายงานยอดผู้ป่วยโควิด ในวันที่ 22 ก.พ.2565 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 18,363 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 คน หายป่วยเพิ่ม 15,651 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) มีมากถึง 526,126 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 35 ราย หายป่วยเพิ่ม 15,651 ราย กำลังรักษา 169,074 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) รวม 389,302 ราย


และหากย้อนไปในวันที่ 21 ก.พ.2565 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 18,883 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 คน หายป่วยเพิ่ม 14,914 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 507,763 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK อีกกว่า 15,010 ราย หากนำมารวมกันจะพบว่ามีผู้ป่วยโควิดทะลุ 33,000 รายผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 507,763 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย หายป่วยเพิ่ม 14,914 ราย กำลังรักษา 166,397 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 373,651 ราย


นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากศบค.ที่ส่งสัญญาณออกมาว่า ในรายงานคลัสเตอร์การติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์ที่มีการรายงานตัวเลขสูงสุด พบว่าเป็น ร้านอาหารและเปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปแบบสถานบันเทิง ที่จังหวัดขอนแก่น สงขลา 


ส่วนคลัสเตอร์โรงเรียนพบในหลายจังหวัด  ที่จังหวัดน่าน หนองคาย เลย สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ร้อยเอ็ด จันทบุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และพะเยา มีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก โรงเรียนมัธยม โรงเรียนกีฬา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย 


คลัสเตอร์ที่อาจเป็นการติดเชื้อซ้ำ เป็นคลัสเตอร์ตลาด มีรายงาน 6 จังหวัด นครราชสีมา อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี สุรินทร์ และเพชรบุรี  มีทั้งตลาดในชุมชน ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ บางแห่งมีการติดเชื้อซ้ำ 


ผอ.ศปก.ศบค. ฝากเน้นย้ำไปยังกลไกฝ่ายปกครองทุกจังหวัด ขอให้กำกับติดตาม โดยเฉพาะคลัสเตอร์ตลาดที่มีการติดเชื้อซ้ำซาก ขอให้ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงไปกำกับในทุกระดับ 


ปัญหาที่ทุกคนยังมึนงงสงสัยคือ อะไรเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้กระทรวงสาธาณณะสุขต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการรักษาพยาบาลประชาชนที่ติดโควิดจากทุกคนสามารถรับรักษาฟรีเนื่องจากเป็นโรคระบาดร้ายแรงฉุกเฉิน


ไม่มีใครอรรถาธิบายในเรื่องนี้ให้ชัดเจน มีเพียงหมอจากกระทรวงสาธารณะสุขเท่านั้นที่พยายาม “แถ”ตามนโยบาย


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพชี้แจงว่า “ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะยังคงได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ "สิทธิบัตรทอง" สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ แต่หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง”


"การประกาศใช้ UCEP ทุกอย่างยังเป็นการรักษาฟรีตามสิทธิต่าง ๆ แต่ก็แน่นอนครับ ถ้าท่านประสงค์จะไปรักษาที่ไม่เป็น รพ.ตามสิทธิ...ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง" นพ.ธเรศ กล่าว


ปัญหาที่ไม่มีใครอธิบายคือ ผลกระทบของการยกเลิกสิทธิยูเซ็ปสำหรับโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณะสุขนั้นเป็นเช่นไร


มีสัญญาณที่เป็นนัยจาก นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณะสุขเท่านั้นที่อ่านเป็นรหัสนัยได้...
 

“หากคุณเดินเข้าไปตรวจโควิดที่โรงพยาบาลเอกชนแล้วผลเป็นบวก คุณจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้อีกแล้ว ยกเว้นว่าจะมีอาการฉุกเฉินวิกฤติตามเกณฑ์ของ สปสช.” นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณะสุข บอกเช่นนั้น


เคลียร์มั้ยครับ ถ้าไม่เคลียร์มาดูเงื่อนไขที่จะรับรักษาฟรีตามเกณฑ์ของ สปสช.ซึ่งผมสอบถามมานะครับ


เกณฑ์ของ สปสช. ผู้ป่วยที่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิยูเซ็ป คือ ผู้ป่วยที่มีอาการ 6 ประเภทที่เข้าข่าย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่


-หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ


-หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง


-ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 


-เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง


-แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด


-อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต


ใครป่วยแล้วพบอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินใน 6 องค์ประกอบก็สามารถโทร.1669 เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ซึ่งจะมีสิทธิทุกที่โดยไม่ต้องสำรองจ่าย!


โชคดีของคนไทย ที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่บ้าจี้ ใจดำเหมือนกระทรวงสาธารณสุข....


มิเช่นนั้นประชาชนคนไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากไวรัสโควิด แต่ในทางการบริหารจัดการประเทศ และการดำเนินนโยบายทางการเมือง รัฐมนตรีสามารถเคลมฝีมือโชว์เหนือความเจ็บป่วยปางตายของผู้คนแน่นอน...


แต่หลังจากนี้ไปอะไรเกิดขึ้น ผมไม่รู้....รู้แต่ว่าการเมืองเรื่องการต่อรองอำนาจจะร้อนฉ่าขึ้นอยู่กับว่า ทีใครทีมัน ไม่มีใครผ่อนใครแน่นอน