จับตา อาฟเตอร์ช็อก เลือกตั้งซ่อมส.ส.ใต้

18 ม.ค. 2565 | 12:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3750 ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2565 โดย...กาแฟขม


*** ยอดผู้ติดเชื้อโควิดวันที่ 17 ม.ค.2565 ประกาศออกมาโดยศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลปใหม่มา 2 สัปดาห์ยอดผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขที่ระดับเกิน 5 พันราย โดยตัวเลขอยู่ที่ 6,929 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 107,979 รายรอบเม.ย.2564 เสียชีวิตสะสม 240 ราย และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมายอดผู้ป่วยสะสม 2,331,414 ราย หายป่วยแล้ว 2,227,266 ราย เสียชีวิตสะสม 21,938 ราย มีผู้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 109,542,145 โดส แต่สถานการณ์ตอนนี้ต้องดูกันที่วัคซีนบูสเตอร์โดส ที่สร้างภูมิคุ้มกัน แม้ป่วยแต่ไม่รุนแรง ลดการเสียชีวิตลง

*** การเมืองเดือดตั้งแต่ต้นปี เมื่อศึกเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ภาคใต้ สงขลา ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ชนะ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ทั้ง 2 เขต ฟัดกันนัวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ชี้นิ้วกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง ต้องรอดูมีควันหลงกระทบเสถียรภาพหรือไม่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกให้จบ จะจบได้แนวสนิทสมานฉันท์ตามประกาศิตหรือไม่ต้องจับตาใกล้ชิด งานพ่ายศึกเลือกตั้งพปชร.รอบนี้ วิเคราะห์ต่างๆ นานา ไม่ไหวแล้ว พปชร. แต่จะตอกย้ำอีกทีและชี้ชะตากาเรมืองในภาพใหญ่ได้ชัดๆ ต้องดูผลการเลือกตั้งซ่อมเขตหลัก 4 ที่พรรค พปชร. ลงป้องกันตำแหน่งสู้กับพรรคฝ่ายค้านเพื่อไทย จะมีการโหวตสั่งสอนรัฐบาลหรือไม่ ดูกันดีๆ งานนี้คอการเมืองว่ามีอาฟเตอร์ช็อกตามมาจากภาคใต้ มีโอกาสเป็นไปได้สูงทีเดียวเชียว ฯพณฯ ***


*** พิสูจน์กันว่ารัฐบาลขาลง “นายกฯประยุทธ์” ขาลงแน่แท้หรือไม่ เดี๋ยวก็รู้ แต่ที่แน่ๆ ประกาศออกมาแล้ว พรรคใหม่ 4 กุมาร อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ขุนพลคู่กาย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เอาฤกษ์เอาชัยตั้งพรรคร่วมสร้างอนาคตไทย วันที่ 19 ม.ค.2565 สร้างอนาคต สร้างทางเลือกใหม่ ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่เลือกขั้วข้าง หวังพาประเทศให้พ้นหลุมดำ หลุดกับดักความขัดแย้งแตกแยก ฟื้นเศรษฐกิจที่อยู่ในหุบเหวให้ขึ้นมาใหม่ พรรคใหม่ได้ สุพล ฟองงาม ต้องบอกว่าใจถึง ชัดเจน ลาออกจากพรรคพปชร.ทิ้งตำแหน่งส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กระโดดเข้าร่วมพรรคสร้างอนาคตไทยทันที แว่วว่ามีหลายคนจะตามมา แต่ส.ส.เขตยังคงอยู่ในตำแหน่งไปก่อน เพราะหากเลือกตั้งใหม่กันหลายเขต หลายระลอกจะเสียเงินเสียงบกันเปล่าๆ

*** นี่ก็ยังเป็นกระแสแรงสำหรับการเก็บภาษีจากการซื้อขายเหรียญคริปโตของรัฐ ที่ฮึ่มๆ ฮั่มๆ เอาแน่ ขณะที่นักลงทุนก็มองว่าการเก็บจะเป็นการผลักการลงทุนออกไปและจะทำห่างไกลเทคโนโลยีมากขึ้น ผลสำรวจซีอีโอก็สุดสูสีระหว่างการสนับสนุนให้เก็บกับเว้นไปก่อน ร้อนถึง วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบัน ออกโรงรับหนังสือ จากสมาคมฟินเทค ประเทศไทยและคณะ ที่ยื่นขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ก็เป็นหน้าที่กรรมาธิการที่จะรวบรวมปัญหา รับฟังทุกฝ่าย สรุปแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ ต้องไม่ลืมว่า ส.ส.และกรรมาธิการเป็นตัวแทนประชาชน รับฟังข้อเดือดร้อนข้อกังวลประชาชน ทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ จะเก็บ เก็บอย่างไร จะเว้น เว้นอย่างไร เพราะอะไร ไปเมื่อไหร่ เอากันให้ชัดๆ ฟังๆ ดูก็ไม่ได้คัดค้าน หรือ ไม่ให้เก็บกันนะ แต่เก็บอย่างไรต่างหากที่ให้มันเป็นธรรม เคลียร์ๆ  


*** เก็บภาษีอย่างไรไม่รู้ ที่รู้แน่ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)หรือ GULF ของ เจ้าสัว สารัชถ์ รัตนาวะดี ส่งกัลฟ์ อินโนวา บริษัทย่อยที่กัลฟ์ถือหุ้น 100% ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่ม Binance เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เอาเป็นว่าต่อไปในมุมมองสารัชถ์ เล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในไทย เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น ว่าแล้วก็เอากระดานซื้อขายคริปโตมาตั้ง มาทำกันในไทยเสียเลย อันนี้น่าจะเป็นผลดีในแง่คนไทยเทรดเงินจะไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีที่ว่าข้างบนเพื่อเอาเข้ารัฐก็น่าจะมีช่องทางมากขึ้น และการร่วมมือรอบนี้ต้องไม่ลืมว่ากัลฟ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งถือหุ้นเยอะในแอดวานซ์ เอไอเอสที่ประกาศตัวเป็นผู้นำบริษัทเทคฯ อีกที ก็คงสยายปีกเพิ่มขาให้วิ่ง บินได้เร็วขึ้นไปอีกกระมัง 


*** กำลังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาติดตามให้ดีเพราะอยู่ๆ ล่าสุดประเทศอินเดีย ออกมากำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น ออกกฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และระงับการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ของไทย งานนี้ต้องถึงมือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on Technical Barriers to Trade : TBT) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) หยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT ระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ตามพันธกรณีความตกลงที่ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อไป


*** ด้านกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศ ออกมายอมรับว่า ได้รับผลกระทบ ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศของไทย ซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการจ้างโรงงานในประเทศอินเดียบรรจุสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่เครื่องปรับอากาศที่ผลิตในประเทศอินเดียสามารถบรรจุสารทำความเย็นและจำหน่ายได้ทันที อีกทั้งยังออกประกาศใช้กฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี โดยให้เวลาในการเตรียมการเพียง 180 วันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ โดยภาคอุตสาหกรรมขอให้ขยายเวลาเป็น 360 วัน นอกจากนี้ ยังระงับการมาตรวจประเมินโรงงานในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกเครื่องปรับอากาศและเคมีภัณฑ์ต้องหยุดชะงัก