วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความเท่าเทียมในที่ทำงานมากขึ้น

09 ม.ค. 2565 | 09:58 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากผลพวงของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สำหรับในภาคธุรกิจเสมือนเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานทางไกลและมียืดหยุ่นมากขึ้น และอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงสูงขึ้นด้วย อย่างน้อยก็ในบางอาชีพ โดยเฉพาะในธุรกิจครอบครัวซึ่งมักประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัวเป็นสำคัญ

 

หากการทำงานในรูปแบบนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับทุกคน แม้ว่าผู้หญิงจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ในเรื่องของการจ้างงาน แต่ในที่สุดพวกเธออาจได้รับประโยชน์หากมีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยคาดหวังว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น และลดช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างทั้งสองเพศในอนาคต หรืออย่างน้อยก็บางส่วนในตลาดที่พัฒนาแล้ว

 

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการ ล็อกดาวน์ในวงกว้างทั่วโลก ทำให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบในเรื่องของงานและรายได้อย่างไม่สมเหตุสมผล โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labour Organization :ILO) ประมาณการว่า 4.2% ของการจ้างงานผู้หญิงทั่วโลกหายไประหว่างปีค.ศ. 2019 ถึง 2020 เทียบกับเพียง 3% ของการจ้างงานผู้ชาย

 

นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องลาออกจากงานในจำนวนที่มากขึ้น เนื่องจากความรับผิดชอบในการดูแลลูกและงานบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดที่ร้ายแรงอย่างไม่เป็นธรรมกับพวกเธอ อีกทั้งการแบ่งหน้าที่ในบ้านอย่างไม่เท่าเทียมกันทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เป็นรองในครอบครัวของตนและมีแนวโน้มที่จะต้องลาออกจากงานมากขึ้นอีกด้วย

ธุรกิจครอบครัว

สนับสนุนผู้หญิงกลับคืนสู่ตลาดแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ คาดว่าแม้การเติบโตของการจ้างงานที่คาดการณ์ไว้ในปีค.ศ. 2021 ของผู้หญิงจะมีแนวโน้มมากกว่าผู้ชาย แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้การจ้างงานผู้หญิงกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ก่อนปีค.ศ. 2022

 

ขณะที่การจ้างงานผู้ชายคาดว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ภายในสิ้นปี ค.ศ. 2021 ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงช่องว่างที่มีนัยสำคัญนี้ การสร้างกลไกในการกลับเข้ามาทำงานของผู้หญิงโดยเร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

สังคมยอมรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตั้งแต่ปีค.ศ. 2019 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานหลายอย่าง เช่น การทำงานจากที่บ้านและตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงเป็นวิธีการทำงานที่น่าดึงดูดอย่างยิ่งที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพนักงานทุกคน แต่ยังเป็นรูปแบบการทำงานที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

 

ทั้งนี้ก่อนการระบาดของโควิด-19 ผู้หญิง 6% และผู้ชาย 5% ในสหภาพยุโรปทำงานจากทางไกลเป็นประจำ ขณะที่ปัจจุบันพบว่าประมาณ 16% ทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยก็ในบางครั้ง อีกทั้งความยืดหยุ่นในการทำงานอาจช่วยให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถทำหน้าที่ในครอบครัวของตนได้ดี และยังคงมีความกระตือรือร้นในตลาดแรงงานด้วยในเวลาเดียวกัน

 

การทำงานทางไกลจะทำให้ผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานมากขึ้น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Catalyst พบว่าผู้หญิงซึ่งมีหน้าที่ดูแลลูกมีโอกาสน้อยกว่า 32% ที่จะลาออกจากงานหากพวกเธอสามารถทำงานจากทางไกลได้ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สามารถทำงานทางไกลได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการทำงานทางไกลในระยะยาวหลังวิกฤตโควิด-19 อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้หญิงให้ทำงานมากขึ้นได้ตลอดชีวิต เพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องและช่วยให้สามารถเพิ่มเงินออมและเงินสมทบเมื่อเกษียณอายุอีกด้วย

 

สิทธิในการจ้างงานที่เท่าเทียมกัน หมายถึง ความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงาน การระบาดใหญ่ของโควิดได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถทำงานจากที่บ้านได้ และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสามารถแบ่งปันความรับผิดชอบโดยรวมของตนได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถเข้าถึงงานที่ยืดหยุ่นได้เท่าเทียมกัน และนายจ้างควรยอมรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นของทุกคนด้วย ผู้หญิงจึงจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

 

ที่มา: Credit Suisse. 2021. COVID-19 crisis impact: More gender equality in the workplace. Available: https://www.credit-suisse.com/about-us-news/en/articles/news-and-expertise/covid-19-crisis-impact-more-gender-equality-in-the-workplace-202111.html

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,746 วันที่ 6 - 8 มกราคม พ.ศ. 2565