ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน แก้แบบเดิม…ไม่มีทางสำเร็จ!

08 ม.ค. 2565 | 00:45 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” นับได้ว่า เป็นการมองเห็นโครงสร้างของปัญหาใหญ่ที่เป็นความทุกข์ยากของประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง
 

นายกฯ บอกว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้กังวลใจ และเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากนั่น คือ “ปัญหาหนี้สินครัวเรือน” ซึ่งวิกฤติโควิดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาหนักหน่วงขึ้นไปอีก จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผ่อนคลายความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินที่เกิด ให้สำเร็จให้ได้

นายกฯ ลั่นวาจาว่า สองกลุ่มอาชีพสำคัญที่เป็นเป้าหมาย และมีปัญหาหนี้สินที่หมักหมมมาช้านาน นั่นคือ กลุ่มข้าราชการครู และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการโดยด่วนตามแนวทางที่ได้วางไว้ ทั้งการยุบยอดหนี้ การปรับลดค่าธรรมเนียม ปรับปรุงระบบการตัดเงินเดือน การพักชำระหนี้ การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้นโดยควรที่จะมีเงินหลือใช้ไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือน....
 

ในเชิงหลักการบริหารต้องบอกว่า นโยบายของรัฐบาลแบบนี้แหละ ที่เป็นการ “ยิงตรงไปที่หัวใจของประชาชน”

ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP เทียบกับ ณ สิ้นไตรมาส 4/2563 ที่ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 14.03 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.4% ต่อ GDP
 

มีการประเมินว่า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนไทยต่อ GDP จะทรงตัวไม่เกิน 90% ต่อ GDP โดยในช่วงปี 2564 ยอดหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.11 แสนล้านบาท ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงินไทย
 

ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นต้องไม่ใช่ทำแบบเดิม ไม่เช่นนั้นไม่มีทางชำระสะสางหนี้สินของผู้คนในแผ่นดินนี้ให้ลดลงได้
 

ทำไมนะหรือครับ....ผมพาทุกคนมาพิจารณาฐานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เปิดเผยออกมาในปี 2563 โดยใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจเมื่อปี 2561 พบว่าคนไทยกว่า 21 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด มีหนี้เฉลี่ยรวมกันทุกประเภทราว 552,499 บาท ติดอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้  
 

ในจำนวนนี้มีผู้คนมากถึง 3 ล้านกว่าคน ที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่า เป็นหนี้เสีย และถูกคิดดอกเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บตามสัญญากู้อีกไม่เกิน 3-5% ต่อปี จนหลายคนไปไม่เป็นเพราะหนี้จากดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นเท่าทวีคูณ
 

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบอีกว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย กลุ่มที่เป็นหนี้มากที่สุด คือวัยเริ่มทำงานอายุตั้แต่ 25-35 ปี กว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและหนี้บัตรเครดิต
 

โดยหนี้หรือสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 34% หนี้รถมีสัดส่วน 25% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน 40% หนี้อื่นๆ อีก 1% สูงมากเมื่อเทียบกับ สิงคโปร์และอังกฤษ ที่ผู้คนมีหนี้จากการบริโภคไม่ถึง 5%
 

ขณะที่งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ปี 2561 จำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 3 เท่า และจำนวนบัญชีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นการเปิดบัญชีเพิ่มของคนที่มีสินเชื่ออยู่แล้ว
 

ตลอดระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2552-2561 พบว่าการขยายตัวของหนี้กว่า 4 ใน 5 กระจุกตัวอยู่ในผู้กู้รายเดิม
 

ผลการวิจัยยังพบว่า คนไทยจำนวนมากมีหนี้ตลอดอายุการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนหนี้ไม่ลดลง แม้เข้าสู่วัยเกษียณแล้ว 
 

ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ยิ่งแก่ตัวไปหนี้ยังท่วมหัวเอาตัวแทบไม่รอด โดยคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาท/คน ส่วนคนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาท/คน
 

นี่คือปัญหาหลุมดำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่มีหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด
 

ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแล้ว 2 ระยะด้วยกัน ผ่านยุทธวิธีการเลื่อนพักชำระหนี้ การขยายเวลาชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้  ข้อมูลล่าสุดมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12.5 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้กว่า 7.2 ล้านล้านบาท
 

ระยะที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาหนี้ครูมาตลอด โดยครูเป็นหนี้อยู่ทั่วประเทศกว่า 9 แสนราย มียอดหนี้รวมสะสมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และดูเหมือนว่าจำนวนหนี้สินของครูจะพอกพูนสูงขึ้นตามระยะเวลา สวนทางกับอายุการทำงานที่ลดน้อยลง
 

แหล่งเงินกู้หลักของหยี้สินครู มาจากหลายแหล่ง เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู, สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ผ่านธนาคารออมสิน, สินเชื่อโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ, โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. รวมถึงบัตรเครดิต และการกู้ยืมเงินหนี้นอกระบบ
 

ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 157/2564 โดยกระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นรูปธรรม 
 

แผนงานแรก ดำเนินการผ่านต้นแบบการแก้ไขหนี้ 2 แห่ง คือ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด’ และ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด’ ก่อนขยายออกไปอีก 20 แห่ง ผ่านวิธีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3%
 

ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5%
 

จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ไม่น้อยกว่า 30% ของผลกำไร
 

ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยกเลิกการฟ้องคดี รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในอัตรา 2.5 % ปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 0.25-0.50.% ปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน
 

สั่งการให้ส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้ครูแต่ละคนจะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
 

แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระดับจังหวัด 
 

แต่เชื่อหรือไม่ยังไม่ทำให้ครูทั่วประเทศพ้นจากกับดักหนี้ไปได้ มีครูที่เป็นผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องดำเนินคดีมากกว่า 2 หมื่นรายในปัจจุบัน
 

ผลการศึกษาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำเอาหลายคนตกเก้าอี้ เชื่อหรือไม่ว่าครูจำนวนไม่น้อยมีเงินเดือนเหลือใช้หลังจากจ่ายหนี้แล้วไม่ถึง 10% ของเงินเดือน ครูมีเงินเดือน 50,000 บาท แต่ หักชำระหนี้แล้ว จะมีเงินเหลือใช้ไม่ถึงเดือนละ 5,000 บาท เฉลี่ยวันละ 166 บาท ครูเงินเดือน 30,000 บาทมีเงินเดือนเหลือใช้ไม่ถึง 3,000 บาท กว่าวันละ 100 บาท ก็มี เพราะถูกหักหนี้ไว้จนไม่เหลือ
  

ขณะที่แนวทางที่กระทรวงการคลังดำเนินการผ่านปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระคืน การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหา เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระที่ลดลง 
  

มาตรการกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ โดยเฉพาะลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ก็น่าจะทำได้แค่ประคอง
 

มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์หรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงสินเชื่อ เพื่อให้มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสมในเรื่องดอกเบี้ยนั้นก็แค่บรรเทา  
 

มาตรการปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราที่เหมาะสมนั้นก็เพียงสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการคิดดอกเบี้ย
 

วิธีการที่ดี รัฐบาลควรศึกษามาตรการ หรือ วิธีการแบบการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย มารับภาระในการบริหารจัดการหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินในอดีต เมื่อทำสำเร็จใน 10 ปี ก็ยุบองค์กรไป
 

การหักดิบผ่านวิธีการดึงหนี้ออกมา แล้วทำการแฮร์ตัต ตัดหนี้สินที่พอกพูนทวีจากดอกเบี้ยลงมาให้เหลือ 30-50% เท่านั้นที่จะทำให้คนที่เป็นหนี้สินทั้งหมดมีกำลังจ่ายหนี้ แต่ต้องมีเงื่อนไขคือ ห้ามใครเบี้ยว มิเช่นนั้น หมดสิทธิ์เข้าถึงแหล่งเงินอื่นๆจากรัฐ
 

มาตรการแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้คนเป็นหนี้ตัวเบา
 

การปรับลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาในการผ่อนชำระ โกดังพักหนี้ มิใช่วิธีล้างหนี้ให้คนไทยโงหัวได้เด็ดขาด เชื่อผมเถอะ