ย้อนรอยจุดจบ! เจ้าแม่ตลาดหุ้น

04 ม.ค. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** วันนี้เจ๊เมาธ์ ขอย้อนรอยเหตุการณ์ที่สร้างรอยแผลเป็นให้กับ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส และจุดจบนาทีสุดท้ายก่อนชีวิตการเกษียณของ “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” เจ้าแม่ตลาดหุ้น ในตลาดทุนของไทย 
 

ภัทธีรา นั้น ประสบการณ์ทำงานและตำแหน่งทางอาชีพของเธอไม่ธรรมดา เป็นรองประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน เป็นประธานอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง อนุกรรมการวินัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการวินัย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นประธานอนุกรรมการวินัย บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) เป็นคณะอนุกรรมการวินัย บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย  เป็นรองประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นกรรมการ ตลท.

ยังจำกันได้รึเปล่า เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ของการทำ rebalancing จากการเปลี่ยนแปลงหุ้นในดัชนี MSCI จนส่งผลให้วอลุ่มตลาดหุ้นแตะระดับสูงสุดแบบ all time high ในวันที่ 28 เดือนพฤษภาคม 2562 มูลค่าราว 2 แสนล้านบาท สร้างความปลาบปลื้ม ดีใจ ให้กับทั้งโบรกเกอร์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่รับออร์เดอร์จากต่างชาติ ที่วอลุ่มพุ่งทะยาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ 
 

ในวันนั้น โบรกเกอร์ที่วอลุ่มสูงสุดขึ้นอันดับ 1 ก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส ซึ่ง ภัทธีรา เจ้าแม่ตลาดหุ้นนั่งคุมบังเหียน บัญชาการ รับวอลุ่มไปเต็มๆ เกือบ 1 แสนล้านบาท โกยค่าคอมมิชชั่นกันเบิกบานใจ

แต่ความปลาบปลื้มดีใจยังไม่ทันจางหาย เรื่องกลับตาลปัตร ลือกันสนั่นเมือง โบรกเกอร์ ที่รับออร์เดอร์ต่างชาติที่ทำ rebalancing ส่งมอบหุ้นไม่ได้ ว่ากันว่า มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท
 

สุดท้าย 2 ปีต่อมา ก่อนสิ้นปีวัว หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคือ ก.ล.ต. ออกมาเฉลยให้เองว่า โบรกเกอร์ที่ขายหุ้นแล้วส่งมอบหุ้นจำนวนมากไม่ได้นี้ ไม่ใช่อื่นไกล กลับเป็นโบรกเกอร์ ภายใต้การบริหารจัดการของเจ้าแม่ตลาดหุ้นนี่เอง เพราะเมื่อส่งมอบหุ้นไม่ได้ ตลาดหลักทรัพย์ ก็ลงโทษให้ต้องวางเงินเป็นประกันจนกว่าจะส่งมอบหุ้นได้
 

ผลที่ตามมาจากงบการเงินครึ่งปีของดีบีเอสในปี 2562 มีการบันทึกไว้ว่า บริษัทต้องกู้เงินจากบริษัทแม่ คือ ดีบีเอส สิงค์โปร์ ก้อนโตถึง 14,900 ล้านบาท 
 

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็ว่าไม่หนักหนาเท่ากับการที่บริษัทต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากขนาดนี้
 

ถ้า บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ลงข้อมูลตามจริง ในแบบรายงานเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ซึ่งคือ สินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัท หักด้วยค่าความเสี่ยงและหนี้สินรวมของบริษัท ที่โบรกเกอร์ เรียกกันว่า NC ต้องรายงาน ก.ล.ต.ทุกวัน เพื่อให้ทางการรู้ว่า ฐานะของบริษัทมีความมั่นคงพอที่จะให้บริการนักลงทุนหรือไม่
  

เมื่อต้องกู้มามากมายขนาดนี้ ไม่ต้องคิดมาก NC ของบริษัทติดลบแน่นอน แต่ถ้า บริษัท ดีบีเอส วิคเกอร์ รายงานทางการตามจริง ว่า บริษัทมีหนี้มากกว่าสินทรัพย์สภาพคล่อง บริษัทต้องยุติธุรกรรมทุกอย่าง ตั้งแต่ห้ามลูกค้าซื้อ ขาย ไม่เปิดบัญชีลูกค้าใหม่ ไม่ขยายวงเงิน จนกว่าจะแก้ไขได้…
 

อย่ากระนั้นเลย วิธีการง่ายก็อย่าส่งข้อมูลจริงให้ก็แล้วกัน จากเงินกู้ก็ใส่ว่า เป็นเงินสดไป ระดับโบรกเกอร์เจ้าแม่ ทางการคงทำหลับหูหลับตา ไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยผ่านๆ ไป 
 

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นตามคาด เพราะเสียงลือลั่นสนั่นเมือง ท่ามกลางความกังขาของนักลงทุนทั่วไปว่า ถ้าเป็นลูกค้าสถาบันต่างชาติจะทำอะไร ก็ได้งั้นหรือ ????  ขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นก็ได้ด้วยหรือ !!!  
 

โอ้ว …อาศัยการเป็นนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์  อาศัยการเป็นกรรมการในก.ล.ต. คณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดฯ อาศัยการเป็นโบรกเกอร์ต่างชาติ เอาเปรียบลูกค้าทั่วไปยังไงก็ได้หรือ
 

ด้วยเหตุนี้ ก.ล.ต.จึงปล่อยผ่านไม่ได้ จึงเกิดเหตุการณ์ย้อนศร ดำเนินการปรับและสั่งห้ามการเป็นบุคลากรในตลาดทุน 2.6 ปี อีก ของเจ้าแม่ตลาดหุ้น พร้อมลูกน้องที่ช่วยกันดัดแปลงข้อมูล 
 

เรื่องแบบนี้มันจะจบแค่โทษทางวินัยรึเปล่า น่าสงสัย เพราะการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จกับ ก.ล.ต มีความผิดตาม พรบ หลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งนะเจ้าค่ะ! 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,746 วันที่ 6 - 8 มกราคม พ.ศ. 2565