ไทยเปิดประเทศ 1 พ.ย. เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ

14 ต.ค. 2564 | 02:30 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

คืบหน้าอีกก้าวใหญ่ กับการแถลงเรื่องสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อค่ำวันที่ 11 ต.ค. 2564 คือ นโยบายเปิดประเทศรับคนเดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ 10 ประเทศ รวมถึงอังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมัน จีน และสหรัฐ และจะพิจารณาเพิ่มประเทศขึ้นเป็นลำดับ

 

โดยต้องเป็นผู้เดินทางเข้ามาทางอากาศ ได้รับวัคซีนครบกำหนด มีผลตรวจคัดกรองเป็นลบก่อนเข้า และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึง หากไม่พบเชื้อสามารถเดินทางเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยยังคงยินดีต้อนรับผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศความเสี่ยงตํ่า แต่จําเป็นต้องมีการกักตัว ตามเงื่อนไขและข้อกําหนด นั่นคือ เข้ามาแล้วกักสังเกตอาการ 14 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่กำหนดของแซนด์บ็อกซ์ต่าง ๆ ที่มีแผนทะยอยเปิดเพิ่มเป็นขั้นบันใดเช่นกัน

นอกจากนี้ยังคลายล็อกให้ธุรกิจบันเทิง 1 ธ.ค. อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร สถานบันเทิงเปิดได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว การพักผ่อนและบันเทิง ในห้วงเวลาของฤดูการท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 14 ต.ค.2564 นี้ นอกจากประกาศรายชื่อ 10 ประเทศเสี่ยงต่ำแล้ว จะได้พิจารณาสีจังหวัดต่าง ๆ ตามตัวเลขสถานการณ์โควิดล่าสุด และลดหรือเลิกเคอร์ฟิวเพิ่มเติม

 

นายกรัฐมนตรีรับว่า การตัดสินใจเปิดประเทศเพิ่มขึ้นนี้ มีความเสี่ยงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ว่าจะรับมืออย่างไรต่อไป แต่ต้องตัดสินใจเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจ “เราต้องไม่เสียโอกาสในช่วงเวลาทองของการทํามาหากินไปอีกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หากเป็นเช่นนั้นประชาชนคงรับไม่ไหว”

ผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยืดเยื้อ ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ด้วยยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้น กัดกร่อนเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก จนต้องปรับลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจลงจากระดับที่หวังจะโตได้ถึง 4 % เมื่อต้นปี ล่าสุดสภาพัฒนฯปรับลดลงเหลือ 0.7 % ขณะที่ภาคเอกชนบางสถาบันเชื่อจะเติบโตเป็น 0

 

คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยดังกล่าว ยังไม่รวมปัจจัยลบล่าสุด ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ พื้นที่การเกษตรเสียหาย โดยที่ยังมีพายุจ่อเข้าไทยต่อเนื่องอยู่อีก ประจวบกับปัญหาน้ำมันแพงจากภาวะขาขึ้นในตลาดโลก ที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มจากระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นต่อเนื่องจนทะลุ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

มาตรการเปิดประเทศโดยเร็ว เพื่อแข่งขันกับหลายประเทศ ที่เริ่มขยับเปิดรับการเดินทางอีกครั้ง หากช้าเราย่อมเสียโอกาส ในการเกาะขบวนใช้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทย ที่เสียหายไปมากแล้วจากพิษโควิด-19 ในรองสองปีที่ผ่านมา