การจัดการวิกฤติ แบบธุรกิจครอบครัว

10 ต.ค. 2564 | 05:27 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้วแน่นอนว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการดูแลและปกป้องชื่อเสียงขององค์กร เพราะการมีธุรกิจครอบครัวไม่ใช่เพียงมีสิทธิพิเศษเท่านั้นแต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย การบริหารธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากในบริษัททั่วไปตรงที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

จึงมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานซึ่งมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี เจ้าของมักต้องการอยู่ในธุรกิจระยะยาวเพื่อสร้างมรดกและดูแลปกป้องทรัพย์สินอันมีค่าไว้ให้กับครอบครัวของตน

 

จากรายงานของ Institute for Family Business ระบุว่าในสหราชอาณาจักรมีธุรกิจครอบครัวถึง 4.8 ล้านราย ซึ่งคิดเป็น 85% ของบริษัทเอกชนทั้งหมด และจากข้อมูลล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2017 พบว่าธุรกิจครอบครัวสามารถสร้างรายได้ถึง 28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของสหราชอาณาจักร ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 18.8 ล้านล้านปอนด์ต่อปี และพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่ครอบครัวเป็นเจ้าของเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

 

โดยทั่วไปธุรกิจครอบครัวมักจะระมัดระวังชื่อเสียงขององค์กรมากกว่าบริษัททั่วไป เพราะถือว่าธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นมากกว่าธุรกิจ คือทั้งเป็นภาพสะท้อนของครอบครัวและเป็นตัวแทนพื้นที่ของพวกเขาในโลกใบนี้ด้วย ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจะมีความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และในบางบริษัทก็มั่งคั่งมหาศาล ซึ่งเจ้าของก็มักเห็นความสำคัญในการมีชื่อเสียงที่ดีในการจัดการภาวะวิกฤติขององค์กร วิธีการของคนกลุ่มนี้ คือ

 

ธุรกิจครอบครัวมีมุมมองที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะลงทุนในระยะยาวมากกว่า ดังนั้นจึงมักใช้ที่ปรึกษาในภาวะวิกฤติ เพื่อช่วยปกป้องชื่อเสียงในระยะยาว

การจัดการวิกฤติ แบบธุรกิจครอบครัว

เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผิดพลาด เมื่อสมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยเข้าร่วมธุรกิจ พวกเขามักจะเริ่มเรียนรู้จากล่างขึ้นบน ซึ่งในช่วงระยะเวลาการเรียนรู้นี้อาจเกิดปัญหาในการทำงาน ทุกความล้มเหลวนั้นเป็นบทเรียนของสมาชิกครอบครัวที่จะใช้เตือนใจและถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไป

 

ต้องการคนที่สามารถบอกในสิ่งที่ไม่อยากได้ยินได้  แม้พนักงานที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวอาจมีใจโน้มเอียงไปในทางที่จะปกป้องครอบครัวจากข่าวไม่ดีต่างๆ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติิในองค์กรขึ้นก็อาจกลายเป็นหายนะได้ ความสามารถในการสื่อสารจึงเป็นเรื่องจำเป็นเสมอ

 

ความไว้วางใจและความภักดีมักเป็นตัวขับเคลื่อนในธุรกิจครอบครัว ทุกคนในบริษัทหรือที่ปรึกษาของธุรกิจครอบครัวอาจถูกมองว่า เป็นคนนอกหากพวกเขาไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ดังนั้นที่ปรึกษาต้องสร้างความไว้วางใจอย่างเร็วที่สุดจึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความภักดีเป็นการตอบแทน เนื่องจากครอบครัวให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ยืนยาว และมักจะพึ่งพาที่ปรึกษาที่ได้รับความไว้วางใจได้เท่านั้น

 

มรดกมีความสำคัญอย่างมากในธุรกิจครอบครัว เมื่อถึงเวลาเกษียณการทำงาน หรือมีการตายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้จะต้องได้รับการเขียนและอนุมัติโดยครอบครัว

 

นอกจากนี้เป็นความจริงที่ว่าธุรกิจครอบครัวมักมีความลับมากมาย หากไม่ใช่ธุรกิจจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยมากเกินไป อย่างไรก็ตามการบริหารแบบธุรกิจครอบครัวมืออาชีพที่แยกเรื่องครอบครัวออกจากธุรกิจโดยที่ไม่ยังคงเชื่อมโยงกับจุดแข็งของครอบครัวจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

 

ที่มา: Courtney, C. 2021.  Family Firms Value Crisis Management. Available: https://familybusinessunited.com/ 2021/07/26/family-firms-value-crisis-management/

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,721 วันที่ 10 -13 ตุลาคม พ.ศ. 2564