จีนเข้า CPTPP … แล้วไทยเอาไง

24 ก.ย. 2564 | 12:13 น.

เมื่อกลางปีนี้ สหราชอาณาจักรพอออกจากอียูแล้วก็ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ซึ่งก็ไม่ค่อยตื่นเต้นมากเท่าไรนัก

 แต่พอมาถึงกลางเดือนกันยายน ทันทีที่ประเทศจีนได้แสดงเจตนารมณ์ขอเป็นสมาชิก CPTPP ทำให้ความตกลงนี้กลับมาหวือหวาและเป็น Talk of the World อีกครั้งหลังจากที่สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้พาสหรัฐฯ เดินออกจาก CPTPP เมื่อสองสามปีก่อน
การขอเข้าร่วม CPTPP ของจีนทำให้หลายประเทศขยับกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ออกมาตีปลาหน้าไซว่าระบบเศรษฐกิจของจีนไม่ใช่ระบบตลาด มีการอุดหนุนจากรัฐ และการกีดกันทางการค้าจำนวนมาก ถือว่าขัดกับหลักการของ CPTPP เรียกว่าตนเองไม่เอา แต่ก็กลัวจีนจะเอา ซึ่งอันที่จริงสหรัฐฯ ก็กำลังจะเข้ามาอีกครั้งในยุคไบเดน เพียงแต่วางฟอร์มเพื่อเรียกอำนาจการต่อรองจากสมาชิก CPTPP ซึ่งไบเดนก็เคยแหย่ไปว่าสหรัฐฯ พร้อมเข้า CPTPP อีกครั้ง แต่ต้องในบริบทที่สหรัฐอเมริกาต้องการ ผมคิดว่าเกมคงเปลี่ยนไปและอำนาจการต่อรองของ CPTPP จะไม่เหมือนเดิมถ้าจีนกลายเป็นสมาชิกของ CPTPP
จากนี้ไปก็ต้องดูใจประเทศสมาชิก CPTPP ว่าจะมีใครคัดค้านบ้าง โดยเฉพาะออสเตรเลีย ที่เป็นสมาชิก AUKUS ที่มีสหรัฐอเมริกาชักใยอยู่เบื้องหลัง ถ้ามองเรื่องเศรษฐกิจคงไม่มีข้อสงสัยว่าการมีจีน ทำให้ CPTPP มีประโยชน์ต่อสมาชิกมากขึ้น แต่ถ้ามองมุมการเมือง ออสเตรเลียอาจมองว่าการเข้ามาในความตกลงของจีนมีผลต่ออำนาจทางการเมืองและอิทธิพลของจีนในภาคพื้นนี้มากขึ้นและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพี่เบิ้มของออสเตรเลียคงกดดันผ่านออสเตรเลียไม่น้อย

การมีจีนและสหราชอาณาจักรเข้ามาเป็นสมาชิก CPTPP ร่วมกับอีก 11 ประเทศ คือ ชิลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ คานาดา ออสเตรเลีย และ บรูไนแล้ว จะทำให้ความร่วมมือของกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมี GDP ราว ๆ 1 ใน 3 ของโลก นึกภาพก็ออกว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับค้าขายกันเองของสมาชิก และจะมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มอื่น ๆ ได้มากขนาดไหน
CPTPP ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเราเป็นประเทศหนึ่งในสมาชิกริเริ่มพูดคุยหารือกับกลุ่มก่อตั้งที่เป็นสมาชิก APEC ด้วยกันมานานกว่า 10 ปี เพราะเห็นว่าใน APEC นั้นประเทศสมาชิกมีหลายประเทศ ขนาดและความสนใจแตกต่างกันมาก จนยากหาข้อสรุปในความร่วมมือใด ๆ ได้ง่าย ๆ จึงมีบางประเทศแยกวงออกมาเจรจาในกลุ่มประเทศที่สนใจ จนสามารถบรรลุข้อตกลงและจัดตั้ง CPTPP ขึ้นมาในปี 2559 และมีผลบังคับในปี 2562 แต่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นในกลุ่มก่อตั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมจนวันนี้
ถามว่าประเทศไทยไม่สนใจที่จะเข้าร่วมหรือมองไม่เห็นประโยชน์ในการเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ ถึงไม่ยอมเข้าร่วมกับเขาตั้งแต่แรก คำตอบก็คือ เราแสดงความสนใจเข้าร่วมสังคายนากับเขามาตลอด มีการศึกษาข้อดีหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้ง ผลการศึกษาก็สรุปว่าในภาพรวมแล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการเป็นสมาชิก CPTPP และจะมีต้นทุนเสีย
โอกาสสูงหากเราไม่เข้าร่วม เพราะเขาจะหันไปค้าขายกันเองและทิ้งเราเป็นข้าวนอกนา และแน่นอนก็บางเรื่องที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งก็มีการหารือ มีข้อเสนอแนะในการจัดการดูแล เยียวยา เตรียมการ ต่าง ๆ

เรื่องที่กังวลในการเข้ารวมเป็นสมาชิก CPTPP นั้นมีประเด็นสำคัญสองสามเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบ คือเรื่องพันธุ์พืชและยา และตอนนี้ที่เขาตั้งกันแล้ว มีผลใช้บังคับแล้ว ประเทศอื่น ๆ สนใจเป็นสมาชิกเพิ่มแล้ว แต่เราก็ยังถกกันไม่จบ ซึ่งที่ผมมีโอกาสอ่าน ฟัง และสอบถามผู้รู้ ผมยิ่งไม่รู้ว่า เรื่องที่เขาเถียง ๆ กัน นั้น เป็นเพราะเขาไม่รู้ข้อเท็จจริง หรือเขาไม่มีข้อมูล หรือมีข้อมูลแต่ไม่เชื่อ หรือเขารู้ทุกอย่าง แต่มีธงคำตอบแล้ว หรือจะเป็นเพราะอะไรผมก็จนปัญญา เพียงแต่สงสัยว่าถ้าข้อเท็จจริงเดียวกันก็ควรจะเข้าใจเดียวกัน หรือใครมี Hidden agenda

จีนเข้าร่วม CPTPP
ไม่ว่ากลุ่มที่ออกมาคัดค้านหรือเชียร์นั้น ผมอยากให้เปิดใจดูข้อมูลให้ครบ มองอย่างเป็นกลางจริง ๆ และมองกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบและสร้างโอกาสจากข้อตกลง ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็น win – win ในทุกเรื่อง แต่ในภาพรวมเราจะ win หรือไม่ และส่วนที่มีผลเราจะเตรียมการแก้ไขอย่างไรและทำได้หรือไม่ ซึ่งอาจเราอาจมีการตัดสินใจที่ดีขึ้น ไม่งั้นเราก็จะเห็นแต่ละฝ่ายส่งข้อมูลที่แปลงสารตามที่ตนเองต้องการออกไป สร้างความกลัว ตื่นตระหนกให้กับผู้ได้รับผลกระทบจนเกินจริง และบางเรื่องเราอาจเข้าใจในทุกเรื่องก่อนว่ากรอบการเจรจานั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่บอกว่า “ถ้า” ความตกลงเป็นอย่างนี้แล้วจะกระทบกับอุตสาหกรรมนี้ในประเทศอย่างมหาศาลและประชาชนเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่คำว่า “ถ้า” ไม่มีในความตกลงของ CPTPP เลย
เรื่องพันธุ์พืชก็เหมือนกัน โยงเข้ากับความตกลงเรื่องอื่น เช่น UPOV ที่เราหลบไปหลบมาไม่ยอมเข้าร่วมกับเขามาตลอด จนวันนี้ประเทศรอบ ๆ บ้านเรา ไม่ว่าเมียนมาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ฯลฯ ก็เข้าร่วม ผมดูข้อมูลและอ่านหลายงานศึกษาในเรื่องนี้ว่าสารัตถะทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบความตกลงทริปขององค์การค้าโลก (WTO) ที่เราเป็นสมาชิกอยู่ด้วยแล้ว ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก็ไม่มีอะไรมากกว่านี้ แต่ฝ่ายต่อต้านมาอีกแบบ ดูเหมือนจะกลายเป็นหลังมือทันที ดูแล้วหากเข้าร่วม CPTPP แล้ว จะโยงไปถึงอีกความตกลงหนึ่ง แล้วเกษตรกรไทยจะสูญสิ้น ยากจน ติดดิน ชีวิตจะเดือดร้อนถึงขั้นถูกฟ้องว่าเป็นโจรขโมยพันธุ์ข้าวตัวเอง ไปโน่น
ส่วนเรื่องยารักษาโรค มีคนออกมาทั้งสนับสนุนและคัดค้าน แต่ละคนพอเห็นหน้าก็เข้าใจได้ว่ากำลังคิดและกำลังทำอะไร แต่คนที่ฟังข้อมูลละเอียด หายใจลึก ๆ แล้วจะพอเข้าใจได้ว่าทั้งสองฝ่ายกำลังทำอะไร มีเอกสารการศึกษาออกมามากมายทั้งทางการแพทย์ กฎหมาย และเศรษฐกิจ ว่าจะมีผลต่ออุตสาหกรรมยาอย่างไร ในทุกมิติ ไม่ว่า ยาแพง เลียนแบบยาลิขสิทธิ์ไม่ได้เมื่อหมดเวลาคุ้มครอง ทำให้เราผลิต ช้า ไม่ทัน และจบที่ประชาชนจะเดือดร้อน
ส่วนกลุ่มที่เชียร์ ๆ ก็ต้องฟังดูฝ่ายค้านเขากลัวอะไร และลองคิดว่าจะดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างไร แต่ที่ผ่านมาผมมักจะเห็นว่า สองฝ่ายมีข้อมูลต่างกัน ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน แต่ละฝ่ายมีคนรู้ คนเก่งเยอะ คิดว่ารู้ทุกเรื่อง ซึ่งพอฟังทั้งสองฝ่ายแล้ว ผมไม่รู้จริง ๆ ว่าใครถูก ใครผิด แต่รู้แน่ ๆ ว่าต้องมีสักคน “โกหก” และเอาความเดือดร้อนของประเทศเป็นประกัน และความกลัวของประชาชนเป็นเครื่องมือ
ผมรู้เพียงแต่ว่าถ้าวันนี้เราไม่ทำอะไร เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลายเป็นข้าวนอกนาของอาเซียน และต้องเลิกพูดกันได้แล้วว่าประเทศไทยจะเป็น ฮับนั่น ฮับนี่ ฟังแล้วน่ารำคาญ
ผมไม่ปฏิเสธว่าในการเจรจาความตกลงการค้าเศรษฐกิจทุกฉบับและทุกประเทศ มีทั้งคนได้และคนเสีย แต่ทุกประเทศต้องมองผลลัพธ์ในภาพรวม และมองในระยะยาว ทั้งประโยชน์ที่ได้รับวันนี้และอนาคต และผลกระทบที่เกิดขึ้น หากภาพรวมแล้วประเทศได้มากกว่าเสีย เขาก็ตัดสินใจเดินต่อ ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายก็ลุย และออกมาตรการในการเยียวยาและเตรียมการเพื่อช่วยเหลือ ปรับตัวให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ออสเตรเลียปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์และสิ่งทอของตนเองมาเป็นงานออกแบบยานยนต์และเครื่องยนต์ ส่วนแฟชั่นก็มาเป็นด้านแฟชั่นแทนการผลิตแบบเดิม ซึ่งแน่นอนในการเจรจาข้อตกลงก็ขอระยะเวลาในการปรับตัว 5 ปี 10 ปี แล้วแต่การเจรจาว่าจะขอหรือแลกอะไรกัน
ในบ้านเราวันนี้นั้น ถูกฝ่ายค้านวาดภาพของ CPTPP และข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ว่า คือปีศาจ คือความน่ากลัวและน่ารังเกียจ เรียกว่าหากผู้มีอำนาจใดกล้าไปตกลงกับเขามาก็แสดงว่าได้ประโยชน์จากนายทุน และสังคมดูเหมือนจะเชื่อไปกับเขาด้วย และยิ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือคิดว่าตนเองจะได้รับ ตามที่เขาเล่ามาก็ยิ่งออกเสียง ออกแรงโชว์พลัง ตามแบบประชาธิปไตยของเรา ทั้งหมดเป็นเรื่องปกติที่เห็นมาตลอดทุกครั้งที่เราจะมีความตกลงการค้าเสรี แต่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้รู้ข้อมูลดี เพราะศึกษามาเยอะและนานมากแล้ว เพียงตอนนี้ต้องการความกล้าหาญในการตัดสินใจที่ต้องมองอนาคตเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ จะเอาก็ทำอะไรสักอย่าง ถ้าไม่เอา ก็บอก แล้วเราเดินหน้าในอีกแบบที่เราอยากเป็น ซึ่งผมก็ว่าดีกว่าอะไรก็ไม่เอา ผมว่าทำสักอย่างเถอะครับ …. อย่าคิดว่า “รอ” ให้คนที่มีอำนาจต่อไปมาทำเลย รอมานานแล้วครับ