บริษัทหัวใจไทย... สำนึกดีที่ผู้คนควรเชิดชู

20 ส.ค. 2564 | 22:40 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ในยามวิกฤติหรือภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ยามทุกข์ยากแสนเข็ญ เราจะเห็นภาพแห่งความเป็นจริงของชีวิต มิตรภาพ ความรัก ความดีงามของผู้คนในสังคมที่เด่นชัดยิ่ง
 ขณะเดียวกันเราก็จักเห็นเจตนารมย์ในกมลสันดานของผู้คน องค์กร ได้อย่างแจ่มแจ้ง ชนิดที่เปลือยกายล่อนจ้อนต่อหน้าผู้คนได้ชนิดไร้ยางอาย ให้คนได้ทัศนา...
     

ภาพเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเราแล้ว สิ่งที่ไม่เคยเห็นเราได้เห็น สิ่งที่ไม่เคยคาดคิด ก็บังเกิดจนชินตา
     

“อาสาสมัคร จิตอาสา” เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศไทย แม้ไม่มีใครเชิดชู หรือให้เกียรติพวกเขา แต่คนเหล่านี้ยังก้มหน้าก้มตาช่วยเหลือคนติดเชื้อไวรัสโควิด ที่ทะลุหลักหมื่นสองหมื่นคนต่อวัน จนยอดทะลุล้านคนเข้าไปแล้วอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย
 

แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทำงานจนสายตัวแทบขาดทุกวี่วัน แม้ว่าตัวเองและคนในครอบครัวจะสุ่มเสี่ยงจากการติดเชื้อ 
 

นับเป็นการเสียสละของบุคลากรเหล่านี้อย่างหาที่ติไม่ได้ ชนิดที่บรรดานายทหารหาญ ตำรวจที่รับราชการหรือเบี้ยพิเศษจากการทำงานเสี่ยงภัยในภาคใต้เพื่อขยายอายุงานสร้างความก้าวหน้าต้องอายม้วนต้วน แทบแทรกแผ่นดินหนี
     

โรงทาน โรงเจ การจัดทีมฉีดแอลกอฮอล์ทั่วชุมชน ตลาด ท้องถนน การจัดตู้เติมบุญ การจัดตั้งศูนย์พักคอย ที่เกิดจากน้ำมือของเอกชน คนไทย กระจายอยู่ทุกพื้นที่
 เราเห็นการจัดสรรวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีความเท่าเทียม ช่วงชิงวัคซีนที่เป็นเสมือนยาต้านทานความตายของผู้คน การจัดให้วีไอพี วีวีไอพี ให้ได้รับวัคซีนก่อนใครเพื่อนเกลื่อนเต็มไปหมด 
     

เห็นกระทั่งการช่วงชิง “วัคซีนไฟเซอร์” ที่รับบริจาคมาจากสหรัฐมาฉีดให้คนด่านหน้าที่ต้องดูแลคนส่วนใหญ่ที่กำลังทุกข์ทรมานจากการเสี่ยงติดเชื้ออย่าง “หน้าไม่อาย” ของผู้คนที่ไร้ซึ่งจิตสำนึก 
 

เราเห็นการค้าความตายจากเพื่อนคนไทย ขององค์กรที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นตัวตั้งมากกว่ามโนสำนึก ท่ามกลางความเป็น ความตายของประชาชนคนไทย ไม่เช่นนั้นไม่บังเกิดการจองเตียงยังต้องจ่ายเงิน การเข้าคิววัคซีนยังต้องจ่ายเงิน การเข้ารักรักษาตัวในสถานพยาบาลยังต้องจ่ายเป็นแสนบาท สองแสนบาท ไม่เช่นนั้นไม่รับคนป่วย
 

คนไทยอยากได้สังคมแบบไหน เชิญสนับสนุนกลุ่มคนที่มีเจตนาคติ อุดมการณ์ สำนึกเหล่านั้นกันได้เต็มที่...เราคือผู้ลิขิตสังคมที่พึงประสงค์
     

ผมไม่รู้คนอื่นคิดเห็นอย่างไร แต่ผมเห็นสำนึกดีขององค์กรไทยแล้ว ผมปลิ้มปริ่มใจทุกครา...
     

เนชั่น กรุ๊ป ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เกี่ยวพันกับหนังสือพิมพ์ และบริษัทที่ผมเป็นประธานกรรมการอยู่ รับบริจาคสิ่งของจากองค์กรเอกชนเพื่อนำไปแจกผู้ติดเชื้อ ชุมชนสุ่มเสี่ยงยังเกิดขึ้นทุกวันอย่างไม่มีย่อท้อ ยิ่งมากมายทวีจนท่วมโถงอาคารชั้นล่าง...
     

คุณจูน-จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ WHA เห็นสถานการณ์คนติดเชื้อไวรัสวายร้ายจนล้นเมือง รพ.สนามแทบไม่พอรับมือ จึงสั่งเคลียร์คลังสินค้าสมุทรปราการ มาจัดทำโรงพยาบาลสมุทรปราการ รวมใจ 5 (WHA) ขนาด 1,300 เตียง โดยไม่ระย่นระย่อกับภาระที่เกิดขึ้น ขอเธอและองค์กรเธอจงมีพลัง..
 

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)  กลุ่ม โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์  บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด มูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์ และ มูลนิธิพุทธรักษา จัดศูนย์รวมปันสุข สู้ภัยโควิด-19 “ชุมชนอิ่มท้อง ร้านอาหารอิ่มใจ” 


ยังไม่พอ พวกเขาพร้อมพันธมิตร 7 องค์กร ยังจัดตั้ง รพ.สนามขนาด 450 เตียง ขึ้นมาพร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเขียวและสีเหลือง ในชื่อ “โรงพยาบาลแสงแห่งใจ”  ขอให้อานิสงส์แห่งเจตรมณ์ที่ดีงามจงเบ่งบานในใจทุกผู้คนเทอญ..

ยังมีอีกหลายองค์กรฯ ที่ผมสาธยายไม่หมด..แต่ขอให้มีพลัง และรักษาคุณงามความดีไว้ทุกผู้นาม
 

องค์กรที่ควรเชิดชูอีกแห่งที่กำลังทุ่มเทการทำงานอย่างหาญกล้าอย่างยิ่ง คือ ปตท. ที่มี อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าได้ยกระดังองค์กรขึ้นมาแบกรับภาระความทุกข์ยากของคนไทยไปใส่ในบ่าอย่างเต็มที่
     

9 สิงหาคม ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. และ บริษัทในกลุ่มร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ โรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)”  ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.” ขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยคนไทยที่ยังคงมีตัวเลขที่สูงขึ้นจนท่วมประเทศ ด้วยมุ่งหวังที่จะมีส่วนในการช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด รับคนได้วันละ 1,500-2,000 คน ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย           
     

หน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) แห่งนี้ ปตท. ตั้งใจให้มีการดำเนินการที่มุ่ง “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว”  
      

จุดที่ 1 หน่วยคัดกรอง โครงการลมหายใจเดียวกัน ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ EnTer ของบริษัท Energy Complex  เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และเริ่มจากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อไป  
     

ผู้ป่วยระดับสีเขียวที่ตรวจพบ สามารถทำการดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) โดยจะได้รับ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” มีชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาที่จำเป็น ระบบติดตามอาการ
     

จุดที่ 2 , 3 และ 4  จัดเป็น โรงพยาบาลสนามครบวงจร  รองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
      

“โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเขียว” เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมใน กทม. กว่า 1,000 เตียง   
     

“โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเหลือง” ที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียงผู้ป่วย 300 เตียง มีระบบออกซิเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย พร้อมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมการดูแลคนไข้  อาทิ เตียงพลาสติกรับน้ำหนักสูง หุ่นยนต์ CARA เป็นหุ่นยนต์ลำเลียงเพื่อช่วยบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแลคนไข้ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Xterlizer UV Robot ฆ่าเชื้อด้วยแสง UV
     

“โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีแดง” จัดสร้างโรงพยาบาลสนาม ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ สำหรับผู้ป่วย 120 เตียง สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยปรับพื้นที่โล่งของโรงพยาบาลปิยะเวทเป็นสถานที่ก่อตั้ง โดยจัดทำห้องรักษาความดันลบ แยกรายผู้ป่วย ห้องละ 1 เตียง ซึ่งเป็นครั้งแรกของโรงพยาบาลสนามในประเทศ ระบบ Direct Tube ส่งท่อออกซิเจนตรงทุกห้องผู้ป่วย และมีการติดตั้งถังออกซิเจนเหลวขนาด 10,000 ลิตรพร้อมห้องฉุกเฉินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
     

บริษัทในกลุ่ม ปตท. มากันเป็นชุดพลังของคนไทย ได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มา สนับสนุนต่าง ๆ อาทิ
     

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สนับสนุนหุ่นยนต์ “CARA” เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอุปกรณ์ อาหาร แก่ผู้ป่วย และหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค “Xterlizer UV Robot” เครื่องฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV
     

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) GC สนับสนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อาทิ หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR ชุดป้องกันการติดเชื้อ PE Gown ชุดตรวจคัดกรอง Rapid Test
     

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) IRPC คิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย อาทิ เตียงสนามพลาสติกสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่สามารถรองรับน้ำหนักได้สูง  ชุดป้องกันการติดเชื้อ Cover All เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร อุปกรณ์พลาสติก ๆ อาทิ ช้อน-ส้อม ถังขยะ   ถังขยะอันตราย กล่องอเนกประสงค์
     

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ThaiOil สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งเดินทางดูแลผู้ป่วยและบุคลากร
     

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) GPSC  สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Rapid Test นวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่าง GPSC กับ สวทช.
     

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR สนับสนุนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเครื่องดื่มจาก Café Amazon น้ำดื่มจิฟฟี่ รวมถึงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
     

บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital Solution) สนับสนุนระบบดิจิทัลสำหรับลงทะเบียน ณ หน่วยคัดกรองโควิด-19
 

บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด (BSA) บริหารระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19 


ล่าสุดยังทุ่มงบอีกกว่า 1,700 ล้านบาท ต่อยอดโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” สู้โควิด ด้วยการนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ และฟาวิพิราเวียร์ บริจาคให้ภาครัฐเพิ่มอีก 10,000 ขวด โดยจะนำเข้า Favipiravir อีก 1 ล้านเม็ด ในเดือนกันยายนนี้ 
     

เป็นการนำเข้าจากช่องทางเครือข่ายของบริษัทด้านยาที่ ปตท. เข้าร่วมทุน ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย เพื่อมอบให้กับรัฐบาลนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ได้มอบยาเรมเดซิเวียร์ให้ภาครัฐแล้ว 2,000 ขวด
     

องค์กรที่ผมยกตัวอย่างมาให้เห็นเหล่านี้ ถือเป็นบริษัทประเทศไทย ที่มีความสำนึกรับผิดชอบ และสร้างสรรค์สังคมที่ดีในถิ่นที่ตัวเอง-องค์กรเติบโตขึ้นมา ควรอย่างยิ่งที่ผู้คนในสังคมต้องให้การสนับสนุน
     

สำนึกดี สังคมเราย่อมดี เรื่องดี ต้องช่วยกันเชิดชูเกียรติครับ