อย่าให้ “กรอบวินัยการคลัง” เป็นกำแพงกั้นการดูแลประชาชน

01 ส.ค. 2564 | 02:00 น.

บทบรรณาธิการ

     ผ่านไปเกือบสิบวันนับแต่รัฐบาลยกระดับใช้มาตรการเข้ม 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มทำสถิติใหม่รายวันจนทะลุ 17,000 คน พร้อมกับภาพคนไข้ล้นโรงพยาบาลที่นั่นที่นี่ถูกเผยแพร่สู่สังคมถี่ขึ้นเป็นลำดับ เข้าใกล้การคาดการณ์ที่ว่าจะมีคนติดเชื้อสูงสุดเกิน 25,000 คนต่อวันในกลางเดือนส.ค.นี้ เพิ่มกระแสเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งตัดสินใจยกระดับสู่มาตรการเข้มข้นสูงสุด เช่นเดียวกับมาตรการช่วงเม.ย.2563 ที่สั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพื่อกดการแพร่ระบาดลงให้ได้

     แต่การตัดสินดังกล่าวก็ไม่ง่าย เพราะควบคู่กับการยกระดับมาตรการ รัฐต้องเตรียมงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากการระบาดที่เร็ว แรง และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดนี้ วงเงินกู้ตามพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อใช้รับมือเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทนั้น น่าจะไม่เพียงพอ  

     ที่ประชุมครม. 27 ก.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่กระทรวงคลังเสนอขอปรับเพิ่มสุทธิอีก 150,000 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินเพิ่มจาก 1,647,131 ล้านบาท เป็น 1,797,131 ล้าน เพื่อเป็นวงเงินไว้รองรับกรณีจำเป็นต้องใช้วงเงินกู้ภายใต้พ.ร.บ.กู้ฯ 500,000 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2564 (สิ้นก.ย.2564) ซึ่งวงเงินใหม่นี้จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 เท่ากับ 58.88% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี

     วันเดียวกัน ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 37,548.99 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเชื้อโควิด-19 คือ เพิ่มวงเงิน 1,522.99 ล้านบาท  เยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างที่เพิ่มอีก 3 จังหวัด จากที่อนุมัติเดิม 10 จังหวัด วงเงิน 13,504.69 ล้านบาท วงเงิน 13,026 ล้านบาท ให้สปสช.ในการคัดกรองเชิงรุก ชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน และอีก 23,000 ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาของนักเรียนนักศึกษา

     ขณะที่เม็ดเงินจากพ.ร.บ.กู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ที่ใช้รับมือการระบาดเชื้อโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น และใช้ดูแลการระบาดระลอก 1-3 เหลือเพียง 18,000 ล้านบาทเศษ การอนุมัติเยียวยาครั้งล่าสุดจึงใช้เม็ดเงินตามพ.ร.ก.กู้ฯ 1 ล้านล้านเต็มวงเงินทั้งหมดแล้ว และเริ่มใช้ภายใต้พ.ร.ก.กู้ฯเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

     การรบตะลุมบอนกับเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่จากนี้  ยิ่งใช้มาตรการเข้มข้นยิ่งต้องเตรียมการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมมากยิ่งขึ้น ในการล็อกดาวน์ทั่วประเทศสยบการระบาดรอบแรก รัฐใช้งบ 2-3 แสนล้านบาท ในการเยียวยา ผ่านการเติมเงินใส่กระเป๋าประชาชนกลุ่มต่าง ๆ คนละ 15,000 บาท เพื่อเติมกำลังซื้อพยุงเศรษฐกิจ รอบนี้เป็นการระบาดหลังยืดเยื้อมาปีกว่า นอกจากต้องดูแลประชาชนแล้ว อาจต้องขยายการเยียวยาถึงหน่วยธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อย ที่ขาดทุนสำรองพยุงกิจการด้วย

     ช่วง 2 เดือนจากนี้ (ส.ค.-ก.ย.2564) เป็นการรบแตกหักเพื่อเอาชนะการระบาดเชื้อโควิด-19 ให้ได้ เราเห็นว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน มากกว่าวงเงินที่วางกรอบไว้เพื่อรักษาวินัยการคลัง ก็ต้องทำ เพราะหากปล่อยระบาดยืดเยื้อไม่รู้อนาคต เครื่องยนต์เศรษฐกิจก็เดินสะดุด ขณะที่หนี้ต่อจีดีพี.ของไทยยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกาฯอยู่ที่ 128.6% ยุโรป 120.4% ญี่ปุ่น 227.3% เพียงแต่การใช้งบต้องตรงเป้า โปร่งใส มีประสิทธิภาพสูงสุด     

     กรอบวินัยการคลังเป็นเครื่องมือในภาวะปกติ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ เวลานี้เป็นสถานการณ์วิกฤติที่ต้องแก้ไขให้ยุติลงโดยพลัน ดังเช่นรัฐบาลจีนระเบิดเขื่อนเปลี่ยนทางน้ำไม่ให้ไหลท่วมเมือง อย่าให้กรอบกลายเป็นกำแพงกั้นการดูแลประชาชน

​​​​