คงความเห็นให้จัดซื้อ ทั้งที่รู้อยู่แนวเขตเวนคืน ต้องโทษทางวินัย!!

31 ก.ค. 2564 | 22:35 น.

คงความเห็นให้จัดซื้อ ทั้งที่รู้อยู่แนวเขตเวนคืน ต้องโทษทางวินัย!! : บทความคอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,701 หน้า 5 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม 2564

การจัดซื้อจัดจ้างใดๆ ของทางราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังให้มาก... จะประมาทไม่ได้เลยนะครับ โดยเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างคราใด พึงระลึกไว้เสมอว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดที่ทางราชการจะได้รับประกอบกัน

 

วันนี้นายปกครองก็มีอุทาหรณ์มาเตือนใจผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐมาฝาก 1 กรณี โดยเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการประมูลซื้อที่ดินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของผู้มีอำนาจอนุมัติว่า ให้จัดซื้อที่ดินของผู้ชนะการประมูล ต่อมา เมื่อได้รู้ว่าที่ดินดังกล่าวติดภาระผูกพัน คือ อยู่ในแนวเขตเวนคืน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมทั้งที่ยังสามารถเสนอความเห็นต่อผู้บริหารให้พิจารณาใหม่ได้ สุดท้ายผู้เกี่ยวข้องทุกรายจึงถูกสอบสวนทางวินัยจากการจัดซื้อที่ดินครั้งดังกล่าว

 

เหตุของคดีเกิดจาก ... นางพิม ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบัญชี ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง กรณีได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการดำเนินการประมูลซื้อที่ดิน ทำการฝ่าฝืนระเบียบโดยเสนอให้จัดซื้อที่ดินจากผู้ขายซึ่งไม่มีคุณสมบัติและที่ดินมีภาระผูกพัน (การรอนสิทธิ) 

 

คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่า เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ฟ้องคดี ทั้งยังไม่เคยกระทำผิดวินัยและไม่เคยปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการดำเนินการประมูลซื้อที่ดินมาก่อน จึงเห็นควรลงโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 3 เดือน ผู้มีอำนาจจึงมีคำสั่งลงโทษตามความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว

 

นางพิม อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ แต่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติยกอุทธรณ์ นางพิมจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของนายก อบจ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ที่ลงโทษตัดเงินเดือน และขอให้คืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมายให้แก่ตนเอง

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ พฤติการณ์ของนางพิม (ผู้ฟ้องคดี) ถือเป็นความผิดวินัยข้าราชการหรือไม่ ? และคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

 

คงความเห็นให้จัดซื้อ ทั้งที่รู้อยู่แนวเขตเวนคืน ต้องโทษทางวินัย!!

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัด เรื่อง ประมูลซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดซื้อที่ดินขนาดไม่ตํ่ากว่า 20 ไร่ โดยในข้อ 7 ได้กำหนดคุณลักษณะของที่ดินที่จะจัดซื้อว่า ต้องเป็นที่ดินของผู้เสนอขายโดยตรง

 

กรณีผู้เสนอขายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม จะต้องมีหลักฐานการให้ความยินยอมของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมและมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจจัดการยินยอมให้ขายได้โดยมีหนังสือมอบอำนาจตามกฎหมาย และได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคาว่าจะต้องเป็นเจ้าของที่ดินโดยตรง 

 

เมื่อที่ดินที่นายชะลอนำมาเสนอขายจำนวน 8 แปลง มิใช่ที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งหมด โดยมีที่ดิน 4 แปลงที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น แม้ว่าจะได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรายอื่น แต่การรับมอบอำนาจให้เสนอราคาตามประกาศฉบับนี้ ต้องเป็นกรณีผู้เสนอราคา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินด้วย นายชะลอจึงมิใช่ผู้ที่มีคุณสมบัติในการเสนอราคาตามประกาศฉบับดังกล่าว

 

อีกทั้งในข้อ 4 ของประกาศฯ ยังกำหนดว่า ที่ดินที่เสนอขายต้องไม่มีภาระผูกพันใดๆ ซึ่งรวมถึงการถูกบังคับเวนคืนด้วย เพราะจะมีผลทำให้ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินที่จัดซื้อได้สมตามเจตนารมณ์ แต่ที่ดินบางส่วนที่นายชะลอเสนอขายนั้น อยู่ในแนวเขตเวนคืนโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ซึ่งมีการกำหนดแนวเขตเวนคืนไว้โดยชัดเจนแล้ว  

 

แม้ผู้ฟ้องคดีในฐานะกรรมการดำเนินการประมูลการจัดซื้อที่ดินฯ จะได้ล่วงรู้ถึงภาระผูกพันในที่ดินของผู้ชนะการประมูลว่าอยู่ภายใต้การเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อพ้นขั้นตอนการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล การสรุปผลการประมูลเสนอหัวหน้าส่วนราชการ และการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลแล้วก็ตาม

 

แต่เมื่อต่อมาปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะกรรมการได้ร่วมประชุมในประเด็นเกี่ยวกับข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุที่ว่า ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายอยู่ในแนวปักหลักเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน และประเด็นเกี่ยวกับการที่กรมทางหลวงชนบทแจ้งว่าที่ดินบางส่วนอยู่ในแนวเขตเวนคืน

 

ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องทราบแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีคุณลักษณะไม่ตรงตามประกาศฯ เนื่องจากติดภาระผูกพัน และเมื่อยังไม่มีการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าว รวมทั้งยังไม่มีการโอนเงินค่าซื้อที่ดิน ผู้ฟ้องคดีจึงชอบที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมที่ให้นายชะลอเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งยังสามารถกระทำได้เพื่อไม่ให้ประโยชน์ของทางราชการต้องเสียหาย 

 

เมื่อมีการใช้ที่ดินก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่และใช้เป็นสถานที่จัดเก็บเครื่องจักรกล ซึ่งหากถูกเวนคืนที่ดินในภายหลัง ย่อมคาดหมายได้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงสมควรป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วยการยุติการจัดซื้อที่ดิน แต่ผู้ฟ้องคดียังคงเสนอความเห็นให้จัดซื้อตามเดิม

 

กรณีจึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง ของประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ฯ  

 

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ออกคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนผู้ฟ้องคดี 5% เป็นเวลา 3 เดือน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 161/2563)

 

คดีนี้ ... ถือเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทางราชการด้วย 

 

กรณีที่ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่คาดเห็นได้ว่า จะมีผลกระทบต่อประโยชน์ของทางราชการ และการดำเนินการต่อไปจะเป็นการขัดต่อระเบียบหรือประกาศในเรื่องนั้นๆ ก็จะต้องเสนอความเห็นทักท้วง หรือเสนอเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิม 

 

กรณีที่ไม่ดำเนินการทักท้วง ทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาที่ยังสามารถทำได้ ย่อมถือเป็นความผิดวินัยและต้องถูกลงโทษทางวินัย ในฐานฝ่าฝืนหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ดังเช่นอุทาหรณ์จากคดีปกครองข้างต้นครับ!!