พ.ร.ก.“ล็อกคอ”ข้อมูลข่าวสาร อย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ!

14 ก.ค. 2564 | 06:44 น.

พ.ร.ก.“ล็อกคอ”ข้อมูลข่าวสาร อย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา หนังสือพิมพฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3696 ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 ที่ออกประกาศ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทวีความรุนแรงจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ 
 

โดยอ้างว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อโรคได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงมาก ประกอบกับเชื้อโรคได้กลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ และสามารถแพร่กระจายได้ง่ายอยู่ในระดับที่รุนแรงจนไม่อาจวางใจได้ 
 

รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว โดยการกำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล เพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกันจึงต้องการควบคุมการระบาดให้ได้อย่างรวดเร็ว 
 

ข้อกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มีทั้งสิ้น 12 ข้อ ในแต่ละข้อถือเป็นการออกประกาศในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เป็นการป้องกันการระบาดของโรคร้ายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนดส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่จำกัดการเคลื่อนย้าย ลดการรวมกลุ่มของบุคคล การเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การจัดการด้านการรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค รวมถึงข้อกำหนดด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการรวมพลังกันฝ่าฟันวิกฤติให้ผ่านพ้นไป 
 

ทว่า ประเด็นใหญ่ที่กลายเป็นปม และเกิดข้อถกเถียงกันในวงกว้างคือ ประกาศห้ามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในข้อ 11 ความว่า ...
 

“มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การข่าว หรือ การทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” 
 

ความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า (3) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
 

มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

คำสั่งแบบนี้และเอาโทษปรับและโทษอาญามาใช้บังคับ จึงกลายเป็นกฎหมาย ปิดหู ปิดตา ประชาชนทันที 

นอกจากนี้ การที่ข้อกำหนดในเรื่องการเผยแพร่ข้อความ อันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวที่เขียนคลุมไว้กว้างๆ นั้น เสมือนการห้ามที่กวาดไปทั่วแบบไร้ข้อจำกัด และไม่มีอะไรเป็นหลังพิงให้กับผู้คนที่กำลังสื่อความ หรือกำลังสือสารกันแม้แต่นิดเดียว
 

ในข้อกำหนดนั้นไม่มีรายละเอียด แม้แต่จะบอกว่า ข้อกำหนดดังกล่าวคืออะไร ห้ามอะไรบ้าง ใครหน้าไหนก็ตาม ถ้าสื่อสารออกไปแล้ว ทำให้ประชาชนหวาดกลัว แม้จะเป็นความจริงก็ผิดใช่หรือไม่...
 

คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยยืนยันว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่มีการกลัวกันว่า หากนำเสนอข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความหวาดกลัวจะถือว่ามีความผิดนั้น ขอยืนนยันว่า หากเสนอข่าวข้อเท็จจริง ไม่ถือว่า มีความผิด...
 

ผมเห็นว่า ประกาศคำสั่งแบบนี้เป็นคำสั่งที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
 

ไม่เชื่อลองไปดู มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ หรือ เสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”
 

ประกาศฉบับนี้จะโดยตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ผมว่าคนที่เขียนประกาศออกมาน่าจะติดกับดักของสิ่งที่คุ้นชินในเรื่องภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ประกาศที่ใช้ในยามการสู้รบ หรือ การต่อสู้เป็นภาวะสงครามมากกว่าการสู้กับโรคร้ายที่ต้องการการรวมพลังของชนในชาติเป็นหนึ่งเดียวในการร่วมมือกันสู้กับโรคร้าย
 

ผมจึงเสนอให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีที่ลงนามในประกาศดำเนินการแก้ไขไปใช้ข้อความที่เคยประกาศในฉบับที่ 1 ที่ระบุข้อห้ามเรื่องการเสนอข้อมูลข่าวสารไว้ชัดเจนว่า
 

“การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
 

ข้อบังคับฉบับนี้ไม่ได้สั่งบังคับแบบเหวี่ยงแห แต่มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่พบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นความผิด ให้เตือน ให้ระงับ หรือ สั่งให้แก้ไขข่าว โดยไม่ต้องดำเนินคดี 
 

โน่น...หากจะมีการดำเนินคดี ต้องเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง จึงให้ดำเนินคดี ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

แต่การกำหนดในข้อ 11 แบบปูพรมไร้ขีดจำกัดในการห้ามเพียงแค่ “เกิดความกลัว” ผมว่าทำลายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคล
 

ผมคนหนึ่งละที่จะขอต่อสู้กับการใช้อำนาจของประกาศฉบับนี้ เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เพราะ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชนเสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”
 

ในอาชีพของสื่อมวลชน ผมก็จะขอบอกว่าการออกประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้มารอนสิทธิการทำหน้าที่และออกกฎหมายมาบังคับที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 35 “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
 

การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้การให้นำข่าวสารหรือข้อความใด ๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อใด ๆ ก็จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม...”
 

ผมถึงบอกว่า ข้อกำหนดแบบเหวี่ยงแหตามประกาศฉบับปัจจุบันมันอัตรายครับ อันตรายต่อการลุอำนาจของเจ้าหน้าที่เอามากๆ ด้วยครับ
 

ไปตามดูการสั่งเอาผิดผู้แสดงความคิดเห็นของผู้มีอำนาจของรัฐในขณะนี้ดูนะครับว่าเกินไปหรือไม่ ไม่ว่าจะกรณีเอาผิดกับ คุณลอย ชุนพงษ์ทอง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์..กรณีข่าวหมอหนึ่ง...ที่เสียชีวิต...ผมว่า ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน จนเกินไปครับ
 

รัฐบาลอย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือเด็ดขาด องค์กรสื่อ สถาบันวิชาชีพสื่อจะตื่นขึ้นมาสู้หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ผมสู้จริงครับ!