ต้องอุดช่องโหว่ ต่างชาติซื้อที่ดิน

03 พ.ย. 2565 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ

กำลังเป็นประเด็นร้อน หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ....

 

ครอบคลุมต่างชาติ 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ผ่านให้สิทธิการถือครองที่ดิน เพื่อขอใช้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เปิดโอกาสให้มีการลงทุนที่หลากหลายขึ้น และช่วยดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

หลายภาคส่วนทั้งภาคประชาชน การเมือง ภาคธุรกิจ ออกมาชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียที่เกิดขึ้น และที่เสียงดังมากสุด เห็นจะเป็นทางภาคการเมืองที่มองว่า ร่างฉบับนี้ เป็น “กฎหมายขายชาติ” ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ เห็นว่า จะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ยังสามารถจะทบทวนได้ ระหว่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และภาคส่วนต่างๆ สามารถจะเสนอความคิดเห็นต่างๆ เข้ามาด้วยได้รัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณา ซึ่งการให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทย เพื่อการอยู่อาศัย มีมาหลายยุคหลายสมัย สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หลักเกณฑ์ผู้ที่มาซื้อที่ดินก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไป ซึ่งร่างฉบับนี้ได้มีการเพิ่มเติมหลักการในส่วนประเภทการลงทุน และระยะเวลาการดำรงการลงทุนอันแตกต่างไป จากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

 

จึงได้กำหนดกลุ่มคนต่างชาติ 4 ประเภท เพื่อกำหนดคนผู้ได้รับสิทธิ์ให้วงแคบลง และมีเงื่อนไขบางประการที่กำหนดขึ้นมา เช่น การให้ใช้สิทธิ์ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี และต้องลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี หากถอนการลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการลงทุน สิทธิที่จะได้มาซึ่งที่ดินต้องถูกยกเลิก

 

การลงทุน เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินหรือดอกเบี้ย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเห็นว่าร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังมีช่องโหว่ ที่อาจจะต้องไปกำหนดเพิ่มเติม เช่น ห้ามมีการนำไปขายต่อ ห้ามมิให้ผู้ซื้อที่ดินนำที่ดินมาต่อรวมกัน หรืออย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตั้งข้อสังเกตการนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด และลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีนั้น เช่น การเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรที่ ธปท.เป็นนายทะเบียน เป็นการรับรองสถานะกรรมสิทธิ์การถือครองพันธบัตรดังกล่าว ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถรับรองได้ว่า คนต่างด้าวจะดำรงการลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวเป็นเวลาไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปีตามที่กำหนด

 

อาจต้องมีกระบวนการเพื่อควบคุมให้คนต่างด้าว จะลงทุนในกิจการและธุรกิจที่กำหนดครบระยะเวลา 3 ปี เช่น การกำหนดให้มีการนำพันธบัตร ไปจดบันทึกการใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันที่ ธปท. จนครบระยะเวลา 3 ปี เพื่อป้องกันการถอนเงินลงทุน หรือการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหนังสือถึง ธปท. เพื่อขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรของคนต่างด้าวเป็นประจำทุกครึ่งปี เป็นต้น

 

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินอยู่นี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกฎหมายการถือครองที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวออกมาแล้วก็ตาม แต่ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่มีการแก้ไขนี้ อาจจะขัดกับความรู้สึกของภาคสังคมวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลเองก็หาจุดที่ลงตัว ปิดช่องโหว่ของร่างฯ ที่จะกำหนดออกมาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หากไม่ฟังเสียงทุกภาคส่วน สุดท้ายแล้ว อาจจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้