ต้นทุนการผลิตพุ่ง นโยบายการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหา

01 เม.ย. 2566 | 00:30 น.

ต้นทุนการผลิตพุ่ง นโยบายการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหา บทบรรณาธิการ

วันนี้ต้องยอมรับว่า ภาวะเงินเฟ้อยังคงกดดันค่าครองชีพของประชาชนอยู่ ที่มีผลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวต่อเนื่อง ต้นทุนวัตถุดิบของภาคการผลิตต่างๆ ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ฯ ที่สะท้อนกลับมายังราคาสินค้าและอาหารปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
     
สิ่งที่ประชาชนหวังกับการเลือกตั้งหรือรัฐบาลใหม่ที่จะมาถึง ก็อยากจะเห็นแต่ละพรรการเมือง ให้ความสนใจ หรือ มีนโยบายอะไรที่ชัดเจน ที่จะมาช่วยลดภาระค่าครองชีพลงได้บ้าง  
     
เสียงสะท้อนหนึ่งที่มาจากภาคการผลิต อย่างผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังจากรัฐบาลใหม่ ให้เร่งดำเนินการใน 90 วันแรก จะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพง ปัญหาต้นทุนทางการเงิน ปัญหาแรงงาน

โดยเรียกร้องให้ปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า นํ้ามันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล ซึ่งจะส่งผลต่อราคาค่าพลังงานที่จะปรับลดลงมาได้ในอนาคต โดยเฉพาะการการปรับลดอัตราค่า Ft ประจำเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 ที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 6 บาทต่อหน่วย 
     
ขณะที่การแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพงนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ลดขั้นตอนและค่าธรรมเนียมด้านศุลกากร และส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เช่น 

National Digital Trade Platform (NTDP) รวมถึงออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่านํ้า ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน เป็นต้น 

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องส่งเสริมหรือสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน สิ่งที่ภาคผลิตเรียกร้องนั้น ถือเป็นการส่งการบ้านไปถึงบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และจะเข้ามาบริหารประเทศ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่จะตามมาในอนาคต
     
เพราะเวลานี้เอง ประเทศกำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน จากราคาภาคพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม อีกทั้งจะต้องรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ของไทย

รวมถึงรายจ่ายของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น วิกฤตการเงินและเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศพันธมิตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะตามมาอีก 
     
ดังนั้น รัฐบาลใหม่ หรือ พรรคการเมืองที่กำลังอยู่ระหว่างการหาเสียง จะต้องคิดให้รอบครอบว่า จะต้องชูนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง ลดค่าครองชีพ ลดต้นทุนการผลิตให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างไร เพื่อลดผลกระทบภายในประเทศ ก่อนที่จะต้องรับศึกหนักจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก ที่จะตามมาเป็นะระยะๆ