การแยกธุรกิจ และครอบครัวออกจากกัน เพื่อความยั่งยืน

07 ส.ค. 2565 | 01:09 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการสร้างความมั่งคั่งของประเทศต่างๆ มาหลายศตวรรษ คนส่วนใหญ่รับรู้ถึงความเสี่ยงและความสามารถอันเหลือเชื่อในการเปิดตัวกิจการใหม่ๆมากมาย อย่างไรก็ตามมีเจ้าของธุรกิจครอบครัวไม่มากนักที่จะเข้าใจความซับซ้อนในการจัดการเรื่องครอบครัวในธุรกิจ

 

แม้สิ่งที่ดีที่สุดของธุรกิจครอบครัวคือสมาชิกในครอบครัวอันเป็นรากฐานของความไว้วางใจและความจงรักภักดีต่อธุรกิจ แต่ในทางกลับกันก็อาจเกิดสถานการณ์ไม่ดีคือความขัดแย้งในครอบครัวที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ และบ่อยครั้งก็เหตุทำลายความตั้งใจในการส่งผ่านมรดกจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

การแยกธุรกิจ และครอบครัวออกจากกัน เพื่อความยั่งยืน               

ความท้าทายของเจ้าของธุรกิจครอบครัวคือ การรักษาขอบเขตของครอบครัวและธุรกิจไม่ให้ก้าวก่ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบทบาทครอบครัวและบทบาททางธุรกิจอาจทับซ้อนกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกอาจทับซ้อนกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและลูกจ้างเมื่อพ่อแม่เป็นนายจ้างของลูกด้วย ทั้งนี้ยิ่งสมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในธุรกิจมากเท่าใดก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น

 

และเมื่อเป้าหมายของธุรกิจตรงข้ามกับเป้าหมายหรือความต้องการของครอบครัวแล้วปัญหาจะรุนแรงขึ้น สังเกตุได้จากเรื่องธุรกิจจะปรากฎเป็นประเด็นบนพูดคุยบนโต๊ะอาหาร หรือเมื่อบทบาทของครอบครัวถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวกับธุรกิจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความแตกแยกและจะขัดขวางการพัฒนาความสามัคคีในครอบครัวได้

              

ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจะเพิ่มขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาแผนแยกธุรกิจ (business) และบริษัทครอบครัว (family enterprise) ซึ่งบริษัทของครอบครัวจะเป็นนิติบุคคลที่คอยดูแลผลประโยชน์จากธุรกิจครอบครัว มีลักษณะเป็นโฮลดิ้ง และ/หรือบริษัทบริหารทรัพย์สิน ธุรกิจครอบครัวกับบริษัทครอบครัวจึงมีพันธกิจ เป้าหมาย บทบาท และความคาดหวังที่ชัดเจน และแตกต่างกัน กุญแจสำคัญคือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาแต่ละส่วนให้ประสบความสำเร็จ

 

รวมถึงส่วนที่เกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ภายนอกธุรกิจก็อยู่ในกระบวนการให้คำปรึกษาด้วย ทั้งนี้แผนดังกล่าวต้องได้รับการจัดการและตรวจติดตามแยกกันโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่จัดตั้งขึ้นภายในธุรกิจและบริษัทครอบครัว โดยทั่วไปแล้วยิ่งธุรกิจครอบครัว (family business)

 

และบริษัทครอบครัว (family enterprise) มีความโปร่งใสและสื่อสารกันมากเท่าไร ทั้งสองส่วนก็จะยิ่งรู้สึกเชื่อมโยงกันมากขึ้นเท่านั้น และแทนที่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันหาผลประโยชน์ ธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทครอบครัว ก็สามารถเป็นจุดร่วมในการแสวงหาเป้าหมายของครอบครัวได้อีกด้วย

              

ที่มา: Myre, E. Dec 7, 2021. To Preserve the Family Legacy, Keep Business and Family Separate. Available:https://www.mpmwealthplan.com/blog/preserve-family-legacy-keep-business-and-family-separate

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,806 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565