กฎการบริหารความมั่งคั่ง ในธุรกิจครอบครัว

30 ก.ค. 2565 | 01:16 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ครอบครัวที่มาอยู่รวมกันเพื่อทำธุรกิจครอบครัวจะได้แบ่งปันความรู้สึกภาคภูมิใจเกี่ยวกับธุรกิจนี้ และอัตลักษณ์ของความเป็นครอบครัวจะถูกถักทออย่างแน่นหนาในธุรกิจที่มีประวัติการทำงานมาอย่างหนักและความสำเร็จที่ได้รับ แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งผู้ประกอบการจำนวนมากที่สนุกกับความท้าทายในการสร้างธุรกิจครอบครัวก็อาจต้องเผชิญกับการตัดสินใจขายกิจการหรือนำสินทรัพย์ที่สำคัญออกจากธุรกิจด้วยความรู้สึกที่หลากหลายและความกังวลใจอยู่บ้าง

              

ซึ่งแม้ว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะมีประโยชน์แต่มีสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึงความเป็นจริงของการเปลี่ยนผ่านที่ต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งควรใช้เวลาในการตั้งคำถามที่สำคัญ ประเมินทางเลือกและวางแผนตามนั้นเพื่อดำเนินการให้สำเร็จ การบริหารความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัวนั้นต้องทำมากกว่าแค่การจ้างผู้บริหารทางการเงินเข้ามานำเงินไปลงทุน แต่เป็นการรักษาความมั่งคั่งที่เป็นของทุกคนในครอบครัว แม้จะไม่มีสูตรวิเศษตายตัว แต่ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จมักจะทำสิ่งต่อไปนี้

              

กฎข้อหนึ่ง ต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน การกำหนดค่านิยมหลักของครอบครัว และเป้าหมายของความมั่งคั่งร่วมกันไว้อย่างชัดเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษามรดกของครอบครัวไว้ พิจารณาว่า วิสัยทัศน์สำหรับครอบครัวรุ่นต่อไปคืออะไร /อะไรคือเป้าหมายของความมั่งคั่งที่เกิดจากการทำงานในชีวิตของคุณ

              

กฎข้อสอง จัดระเบียบการกำกับดูแลครอบครัว การรู้วัตถุประสงค์ของครอบครัวและธุรกิจเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการจัดโครงสร้างของครอบครัว โดยพิจารณาว่าสมาชิกในครอบครัวจะมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารความมั่งคั่งอย่างไร/ ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจที่สำคัญและจะสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ในครอบครัวทราบได้อย่างไร

  กฎการบริหารความมั่งคั่ง ในธุรกิจครอบครัว              

กฎข้อสาม ต้องออกแบบโครงสร้างความเป็นเจ้าของที่เหมาะสม การจัดโครงสร้างสินทรัพย์อย่างเหมาะสมมีผลกระทบระยะยาวต่อความมั่งคั่งมากกว่าการลงทุนสินทรัพย์อย่างเหมาะสม พิจารณาว่าการตัดสินใจของคุณในวันนี้จะส่งผลต่อลูกหลานอย่างไร/ เป้าหมายความมั่งคั่งของคุณคืออะไร

              

กฎข้อสี่ สร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและโอกาส ครอบครัวที่ทำธุรกิจมักต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แตกต่างกันดังนั้นการจัดทำเอกสาร การหารือกัน และจัดทำแผนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวมีทักษะที่จำเป็นในการรับมือกับวิกฤตการณ์และ/หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ พิจารณาว่าอะไรทำให้คุณตื่นขึ้นในตอนกลางคืน /อะไรคือความเสี่ยงร่วมกันที่มาพร้อมกับความเป็นเจ้าของร่วมกัน

              

กฎข้อห้า สอนความรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของ ความมั่งคั่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ครอบครัวที่ทำธุรกิจที่มีประสบการณ์จะได้เรียนรู้สิ่งนี้ สมาชิกในครอบครัวที่ได้รับการสอนว่าพวกเขาเป็นผู้ดูแลหรือผู้พิทักษ์ความมั่งคั่งมักจะคิดถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวในระยะยาว พิจารณาว่า อะไรคือลักษณะของ “เจ้าของที่รับผิดชอบ” ในครอบครัวของคุณ

 

กฎข้อหก ส่งเสริมความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบนั้นสามารถมอบหมายให้กันได้ แต่อำนาจความเป็นผู้นำที่แท้จริงต้องค่อยๆ ได้มาโดยการผลงาน และความนับถือจากคนในครอบครัว

              

กฎข้อเจ็ด กำหนดตัวชี้วัด/เกณฑ์มาตรฐานของความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องมีการหยุดประเมินผลการปฏิบัติงานของครอบครัวเป็นระยะๆ เปรียบเทียบกับเป้าหมายการบริหารความมั่งคั่งและความต้องการของครอบครัว ต้องพิจารณาว่าครอบครัวต้องการความสำเร็จในระยะยาวและมูลค่าเพิ่มในระยะสั้นอย่างไร

              

การพิจารณาประเด็นสำคัญๆเหล่านี้ สามารถเรียนรู้ได้จากครอบครัวอื่นที่มีประสบการณ์เช่นเดียวกันจะช่วยประหยัดเวลาและเงินในระยะยาวได้อีกด้วย

              

ที่มา: Family Office Exchange. Mar 25 2019. Wealth Management as a Second Family Business. Available: https://www.familyoffice.com/insights/wealth-management-second-family-business

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565