กว่าจะเป็นโลโก้เอเปค 2022 "ชะลอม"สะท้อนแนวคิด Open-Connect-Balance

02 พ.ย. 2565 | 17:05 น.

กว่าจะเป็นโลโก้เอเปค 2022 ประชุมผู้นำ APEC 2022 "ชะลอม"สะท้อนแนวคิด Open-Connect-Balance มีความหมายและที่มาอย่างไร

การประชุมเอเปค 2022 ใกล้เข้ามาทุกที ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) (ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยใช้ “ชะลอม” เป็นตราสัญลักษณ์เอเปค 

 

ชะลอมถูกนำมาเป็นโลโก้งาน APEC 2022 Thailand เป็นเส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุลระหว่างกัน

ที่มาเเละความหมายโลโก้ APEC 2022 "ชะลอม"

  • ออกแบบโดย นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ได้รับแรงบันดาลใจ คือ สัญลักษณ์นี้จะต้องสะท้อนถึงความเป็นไทยและตัวตนของเอเปค อีกทั้งชะลอมสื่อถึงหัวข้อหลักของการประชุมเอเปกในปี 2565 
  • OPEN: ชะลอมมีลักษณะปลายเปิดไว้ใช้ใส่สิ่งของต่างๆ จึงเสมือนว่าเป็นการสื่อการค้าลงทุนที่เปิดกว้าง
  • CONNECT: เพราะชะลอมมีไว้ใส่สิ่งของเพื่อขนส่ง จึงเปรียบได้กับความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค
  • BALANCE: ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระสำคัญของไทยและกำลังผลักดันในเวทีเอเปก 2565 นี้

สำหรับ ชะลอม เป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาแต่โบราณ มีปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกไผ่บางๆ สานเป็นลวดลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่าง เหลือตอกยืนที่ปากไว้โดยไม่สาน เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากัน เป็นหูหิ้วหรือกันสิ่งของที่ใสไว้ภายในตกหล่น