จ่อประมูลรถไฟทางคู่เพิ่ม ร.ฟ.ท.ใส่เกียร์สำรวจเวนคืนสร้าง 3 เส้นทาง พ.ย.นี้

13 ก.ย. 2559 | 04:00 น.
รถไฟทางคู่จ่อเปิดประมูลเส้นทางใหม่เพิ่มอีก "วุฒิชาติ" เดินหน้าหลัง พ.ร.ฎ.เวนคืนผ่านฉลุยแล้ว 3 เส้นทาง คาดได้ตัวที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจ พ.ย.นี้ พร้อมเสนอบอร์ดขออนุมัติเซ็นสัญญา ธ.ค. 59 ก่อนเริ่มดำเนินการสำรวจเวนคืนต้นปี 60 โดยเส้นประจวบคีรีขันธ์-ชุมพรเป็นลำดับแรก จ่อคิวด้วยมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เผยขนาดพื้นที่โดนเวนคืนมีตั้งแต่ 40 ถึงกว่า 230 เมตร เพื่อการก่อสร้างทางและสะพานข้ามทางรถไฟ

แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่านายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการร.ฟ.ท.ได้เร่งรัดให้คัดบริษัทที่ปรึกษาที่จะลงพื้นที่สำรวจการเวนคืนโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางที่ผ่านพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)กำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และช่วงนครปฐม-หัวหิน และรถไฟสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เพื่อการใช้พื้นที่ก่อสร้างทางและสะพานข้ามทางรถไฟดังกล่าว

ทั้งนี้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 จะต้องได้ตัวบริษัทที่ปรึกษาครบทั้ง 4 เส้นทางเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เห็นชอบอนุมัติเซ็นสัญญาจ้างภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาไปดำเนินการสำรวจพื้นที่เวนคืนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป เบื้องต้นนั้นเส้นทางนครปฐม-หัวหิน มีผู้สนใจจำนวน 2 ราย เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จำนวน 2 ราย เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ จำนวน 2 ราย และเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (ที่พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนยังไม่ผ่านการพิจารณา) จำนวน 1 ราย โดยอยู่ระหว่างการให้คะแนนตามคุณสมบัติที่ร.ฟ.ท.กำหนดไว้ก่อนที่จะเร่งประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

"ขณะนี้เรียกได้ว่า 3 เส้นทางนี้มีความชัดเจนแล้วเรื่องพ.ร.ฎ.เวนคืน ยังค้างอีก 1 เส้นทางคือมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระที่คาดว่าจะได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพรจะเร่งรัดการสำรวจก่อนเส้นทางอื่น ต่อคิวด้วยเส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ,นครปฐม-หัวหิน , ลพบุรี-ปากน้ำโพ ต่อเนื่องกันไป เมื่อได้ตัวที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มทำหน้าที่เร่งสำรวจพื้นที่เวนคืน ดังนั้นปี 2560 จึงจะได้เห็นความชัดเจนด้านการเวนคืนพื้นที่รถไฟทางคู่ทั้ง 4 เส้นทางนี้ โดยเส้นลพบุรี-ปากน้ำโพจะโดนเวนคืนพื้นที่มากที่สุดในการก่อสร้างเลี่ยงเมืองลพบุรีไปทางทิศตะวันตกด้วยระยะทาง 32 กิโลเมตร"

สำหรับพื้นที่จะเวนคืนในแต่ละเส้นทาง ประกอบไปด้วย เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ต.หนองปากโลง ต.โพรงมะเดื่อ ต.หนองดินแดง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ต.หนองกบ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง ต.คลองตาคต ต.โพธาราม อ.โพธาราม ต.ท่าราบ อ.เมืองราชบุรี ต.บ่อกระดาน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ต.ห้วยโรง อ.เขาย้อย ต.ธงชัย ต.คลองกระแชง ต.ท่าราบ ต.ช่องสะแก ต.ต้นมะม่วง ต.โพไร่หวาน ต.ดอนยาง อ.เมืองเพชรบุรี ต.สมอพลือ ต.หนองกระเจ็ด อ.บ้านลาด ต.หนองศาลา ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีความกว้างพื้นที่ตั้งแต่ 11 เมตร ไปจนถึงส่วนกว้างที่สุด 105 เมตร มีจำนวนทั้งสิ้น 28 สถานี โครงการดังกล่าวนี้มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(Net Present Value : NPV) 143,268 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (Benefit/Cost Ratio :B/C Ratio) 1.96 มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(Economic Internal rate of return: EIRR) 23.41%

เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม.วงเงินค่าก่อสร้าง 1.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 5 อำเภอ ของ 2 จังหวัด ได้แก่ ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต.ดอนยาง ต.บางสน อ.ปะทิว ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร เบื้องต้นคาดว่าจะมีพื้นที่โดนเวนคืน 199 ไร่ 20 งาน 592 ตร.ว.

เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา ระยะทาง 132 กม. วงเงินก่อสร้าง 2.9 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ต.ปากช่อง ต.หนองสาหร่าย ต.จันทึก ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง ต.ลาดบัวขาว ต.คลองไผ่ ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว ต.เสมา ต.โคราช ต.กุดจิก อ.สูงเนิน ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เวนคืนพื้นที่กว้างตั้งแต่ 40 - 230 เมตร วงเงินค่าเวนคืน 114 ล้านบาท

สำหรับเส้นทางสายเหนือ เส้นทางลพบุรี-ปากนํ้าโพ วงเงินค่าเวนคืน 163ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ ต.โคกลำพานต.โพธิ์เก้าต้น ต.ตะลุง ต.โพธิ์ตรุ ต.บางขันหมาก ต.โคกกระเทียม อ.เมืองลพบุรีต.โพตลาดแก้ว อ.ท่าวุ้ง ต.เชียงงา ต.บ้านหมี่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี และต.เขาทองอ.พยุหะคีรี ต.หนองปลิง อ.เมืองนครสวรรค์จ.นครสวรรค์ เพื่อสร้างทางและสะพานข้ามทางรถไฟ โดยมีส่วนกว้างตั้งแต่ 40เมตรไปจนกว้างที่สุด 200 เมตร ระยะทาง148 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 2.4 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 11 ตำบล 5อำเภอ ของ 2 จังหวัด รวมพื้นที่ 375 ไร่มีส่วนแคบที่สุด 40 เมตรไปจนถึงส่วนกว้างที่สุด 200 เมตร ตามผลการศึกษาความเหมาะสมพบว่ามีค่า (Financial Internal Rate of Return : FIRR) 5.59% และค่า EIRR 20.21% มีปริมาณผู้โดยสาร 33,880 คนต่อวันในปีแรกที่เปิดให้บริการปริมาณการขนส่งสินค้า 25,910 ตันต่อวันในปีแรกที่เปิดให้บริการ 1.15 มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13.39%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559