17 บริษัทเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง

05 ส.ค. 2559 | 10:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น มีเอกชนสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 17 ราย มีรายนามดังต่อไปนี้

1.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน)  (BTS Group) ไทย  2.บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  RATCH  ไทย 3.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM ไทย4.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ไทย 5.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ไทย 6.SK ENGINEERING & CONSTRUCTION CO., LTD.เกาหลีใต้7.CHINA COMMUNICATIONS CONSTRUCTION COMPANY LIMITED จีน  8.SINOHYDRO CORPORATION LIMITED จีน 9.CHINA RAILWAY CONSTRUCTION CORPORATION LIMITED จีน  10.บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ไทย  11.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) ไทย  12.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ไทย   13.บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) ไทย 14.  RATP DEV TRANSDEV ASIA  ฝรั่งเศส  15.SMRT INTERNATIONAL PTE LTD สิงคโปร์  16.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ไทย และ17บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ไทย

โดยสัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯนั้น เป็นโครงการในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost) ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน

ระยะที่ 2: งานให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี

การคัดเลือกผู้รับสัมปทานฯ ดังกล่าว จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลุงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 อย่างเคร่งครัด โดยมีกำหนดเปิดรับซองข้อเสนอในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. และกำหนดเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.00 น. ณ สำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9   แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีความยาวประมาณ 34.5 กม. ประกอบด้วยสถานี 30 แห่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดและจร 1 แห่ง ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีความยาวประมาณ 30 กม. ประกอบด้วยสถานี 23 แห่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดและจร 1 แห่ง โดยทั้งสองโครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองโครงการได้ภายในปี พ.ศ.2560 และมีกำหนดเปิดให้บริการปี พ.ศ.2563