"Cisco" เปิดตัว "HyperShield" AI รักษาความปลอดภัยรูปแบบใหม่

19 เม.ย. 2567 | 00:07 น.

"Cisco" เปิดตัวเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยเวอร์ชันใหม่ “HyperShield” ชูประสิทธิภาพการป้องกันที่ครอบคลุมทั้ง แอปพลิเคชัน-อุปกรณ์-ศูนย์ข้อมูล-ระบบคลาวด์ ด้วย AI

Cisco Systems บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับองค์กรได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สถาปัตยกรรมความปลอดภัยรุ่นใหม่ล่าสุด โดยจะใช้ AI ที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัยและปกป้องแอปพลิเคชัน อุปกรณ์ ข้อมูลในศูนย์ข้อมูลสาธารณะและส่วนตัว ระบบคลาวด์ และตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ ภายใต้ระบบที่เรียกว่า “HyperShield” 

การเปิดตัว HyperShield ของ Cisco มาตามหลังการเข้าซื้อกิจการ Splunk ด้วยมูลค่า 28 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยการเปิดตัวครั้งนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง Cisco กับบริษัทชิปยักษ์ใหญ่ Nvidia ในการจัดการและรักษาความปลอดภัยสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน AI รวมถึงเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของ Cisco ที่จะพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้เล่น AI ตัวจริง ในช่วงเวลาที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Microsoft, Google และ Amazon ก็กำลังเดินหน้าทุ่มลงทุนเพื่อเป็นผู้นำในด้านปัญญาประดิษฐ์ AI มูลค่ากว่าหลายพันล้าน 

Jeetu Patel รองประธานบริหารของ Cisco และผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความปลอดภัยและการทำงานร่วมกัน ระบุว่า HyperShield ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นสถาปัตยกรรมใหม่ และเป็นเวอร์ชันแรกของสิ่งใหม่ๆ ทั้งนี้ แบรนด์อื่นๆ ก็มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Hewlett Packard Enterprise (HPT) บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ได้ประกาศจะรวมโมเดล AI ขนาดใหญ่รุ่นใหม่ สำหรับแผนกเครือข่าย Aruba ในขณะที่ VMWare ของ Broadcom ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้จัดหาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำระดับโลก ก็ได้เปิดตัวเครื่องมือที่จะทำให้บริษัทต่างๆ สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ Generative AI ที่ปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัว

การทำงานของ HyperShield 

HyperShield จะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันความปลอดภัยและใช้กับสิ่งที่จำเป็นต้องการการรักษาความปลอดภัยโดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้พนักงานไซเบอร์มองเห็นช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ในแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ดีขึ้น 

โดยจะมีคุณลักษณะการแบ่งส่วนแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ธุรกิจหลีกเลี่ยงช่องโหว่และการละเมิดต่างๆ พร้อมทั้งช่วยให้ AI ของ Cisco แยกเครือข่ายคอมพิวเตอร์ออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Self-Qualifying Upgrades จะทำหน้าที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถดำเนินการทดสอบและปรับใช้การอัปเกรดได้โดยอัตโนมัติ

Cisco เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกมายาวนาน เช่น switches, modems และ routers รวมถึงได้มีการส่งเสริมธุรกิจความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและกระตุ้นการเติบโตขององค์กร จึงเป็นที่มาของการเข้าซื้อกิจการ Splunk ในเวลาต่อมา

ซึ่งเทคโนโลยีของ Splunk นั้นช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงของการถูกแฮ็กและแก้ไขปัญหาทางเทคนิคได้เร็วขึ้น และเนื่องจากระบบคลาวด์สาธารณะได้เข้ามากลืนกินธุรกิจหลังบ้าน (Back-end) แบบเดิมของ Cisco มากขึ้น บริษัทจึงจำเป็นต้องค้นหาแหล่งรายได้ใหม่ที่โตกว่า โดยมีความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเดิมพันหลัก

ทั้งนี้ Cisco ระบุว่า องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ แท่นขุดเจาะน้ำมัน อุปกรณ์ Internet of Things (IoT) และเครื่อง MRI ในโรงพยาบาล จำเป็นต้องได้รับการดูแลและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อมีการอัปเกรดระบบต่างๆ โดยเทคโนโลยี HyperShield ของ Cisco ได้รับการออกแบบผ่านการคำนึงถึง AI ดิจิทัลของโลกยุคใหม่ เช่น ChatGPT, Google Gemini และเครื่องมือขั้นสูงอื่นๆ 

พร้อมประกาศว่า Cisco กำลังจะย้ายจากโลกแห่งความขาดแคลนไปสู่โลกแห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยมีผู้ช่วยอัจฉริยะทางดิจิทัลอย่าง AI อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง รวมไปถึงอาศัยอยู่ในศูนย์ข้อมูลต่างๆ ของเราอีกด้วย

 

ขอบคุณที่มา : CNBC