เปิด 10 อันดับยี่ห้อรถแบรนด์ใดขายดีสุดประจำเดือนม.ค.-ก.พ.67

28 มี.ค. 2567 | 09:05 น.

ส่องยอดขายรถยนต์เดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ 2567 เช็คเลยยี่ห้อไหนขายดีสุด 10 อันดับแรก พร้อมเจาะลึกภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไตรมาสแรกจะไปทิศทางไหน

ตลาดรถยนต์ไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของปี 2567 (มกราคม -กุมภาพันธ์)ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งตลาดมียอดขายรวม 107,657 คัน ลดลง 21.5 % อย่างไรก็ตามหลายค่ายประเมินว่าในเดือนมีนาคม 2567 แนวโน้มตลาดจะขยับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีงานมอเตอร์โชว์ 2024 ที่แต่ละค่ายจะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมทั้งมีแคมเปญโปรโมชันทั้งจากค่ายรถยนต์และสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมตลาด

 

ทั้งนี้สามารถตรวจสอบแบรนด์ยอดนิยม 10 อันดับแรกประจำเดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำยอดขายสูงสุด โดยจะเป็นแบรนด์ใด ยี่ห้อไหน สามารถตรวจสอบได้ดังต่อไปนี้ 

  1. โตโยต้า 37,228 คัน ส่วนแบ่งตลาด 34.6 %
  2. ฮอนด้า 16,885 คัน ส่วนแบ่งตลาด 15.7 %
  3. อีซูซุ 15,583 คัน ส่วนแบ่งตลาด 14.5 %
  4. บีวายดี 8,915 คัน ส่วนแบ่งตลาด 8.3 %
  5. มิตซูบิชิ 4,575 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.2 %
  6. ฟอร์ด 4,189 คัน ส่วนแบ่งตลาด 3.9 %
  7. เอ็มจี 3,125 คัน ส่วนแบ่งตลาด 2.9 %
  8. นิสสัน 1,948 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.8 %
  9. เกรท วอลล์ มอเตอร์ 1,613 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.5 %
  10. มาสด้า 1,510 คัน ส่วนแบ่งตลาด 1.4 %

เปิด 10 อันดับยี่ห้อรถแบรนด์ใดขายดีสุดประจำเดือนม.ค.-ก.พ.67

 

ส่องปัจจัยกระทบยอดขายรถยนต์ 

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 26.1% โดยมีปัจจัยมาจากการเร่งขายของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องจดทะเบียนภายในเดือนมกราคม เพื่อลูกค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี BEV 3.0  รวมถึงผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ตลอดจนแคมเปญส่งเสริมการขายที่จะเกิดขึ้นในงานมอเตอร์โชว์ 2024 นอกจากนั้นแล้วการที่สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์


 
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อตามนโยบายการให้กู้แบบรับผิดชอบ และหนี้ครัวเรือนสูง ขณะเดียวกันยอดขายรถในกลุ่ม PPV ลดลง47.6 % เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อรถยนต์นั่งตรวจการณ์ที่เป็น HEV มากขึ้นเพราะราคาถูกกว่า รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตในระดับต่ำเพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้าไปถึงเดือนเมษายน ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลง
 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

เจาะลึกภาพรวมอุตฯยานยนต์ไทยม.ค.-ก.พ.67

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้เปิดเผยตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ รวมไปถึงยอดส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

 

ยอดผลิต 2 เดือนแรกปี 67 ลดลง 15.90 % 

จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 275,792 คัน ลดลง 15.90 % ส่วนจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีทั้งสิ้น 133,690 คัน ลดลง 19.28 % เพราะผลิตเพื่อส่งออกและผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 9.25 % และ 32.96 % ตามลำดับ

 

โดยการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจากการผลิตรถกระบะลดลงเพราะบางบริษัทขาดชิ้นส่วนบางชิ้น ขณะที่การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงจากการผลิตรถยนต์นั่งลดลงเพราะถูกรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาแบ่งส่วนแบ่ง และจากการผลิตรถกระบะลดลง เพราะยอดขายลดลงจากการเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

ยอดส่งออก ม.ค.-ก.พ.67 เติบโตเล็กน้อย 

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 175,436 คัน เพิ่มขึ้น 0.07 % โดยแยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 163,407 คัน ลดลง 5.97 %  ส่งออกรถยนต์ HEV 12,029 คัน เพิ่มขึ้น 686.72 %  คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 121,228.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.80 % 

 

เมื่อมาดูตัวเลขส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ส่งออกได้ 88,720 คัน เพิ่มขึ้น 0.22 % แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 81,644 คัน ลดลง 7.07 % ส่งออกรถยนต์ HEV 7,076 คัน เพิ่มขึ้น 951.41 %  โดยตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากความไม่ปลอดภัยในเส้นทางทะเลแดง จึงต้องไปอ้อมแหลมกู้ดโฮม การใช้เวลาในการขนส่งมากขึ้นจึงทำให้จำนวนเที่ยวลดลง และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางแห่งชะลอลง จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป ส่วนมูลค่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 คิดเป็น 60,661.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.69 % 

 

สินเชื่อเข้ม-หนี้ครัวเรือนพุ่ง กระทบยอดขายรถในประเทศ

ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศ เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 107,657 คัน ลดลง 21.49 % ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,843 คัน ลดลง  26.15 % โดยยอดขายรถกระบะและรถยนต์นั่งลดลง 43.2 % และ 20.1 % ตามลำดับ เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง เศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในระดับที่ต่ำ การลงทุนจากภาครัฐที่ลดลง

ยอดขาย -ยอดผลิตรถยนต์ม.ค.-ก.พ.67 ยังร่วง

ยอดจดทะเบียน EV ยังพุ่ง

ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  22,278 คัน เพิ่มขึ้น 81.97 % ขณะที่ตัวเลขเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2567  มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,335 คัน ลดลง 15.94 %  ส่วนตัวเลขยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 154,020 คัน เพิ่มขึ้น 247.72 % 

 

ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า