"หมอชลน่าน" ยัน คุม "โควิด" ได้ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก

24 เม.ย. 2567 | 06:05 น.

หมอชลน่าน ยัน สาธารณสุข ควบคุมสถานการณ์โควิดได้ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก ย้ำ กรมควบคุมโรค เตือนแล้วหลังสงกรานต์จำนวนผู้ป่วยพุ่ง

24 เมษายน 2567 นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฝากถึงประชาชนอย่าตื่นตระหนกข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 และขอให้ติดตามข่าวสารจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

นพ.ชลน่าน มีความห่วงใยประชาชนต่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ซึ่งแม้ว่า ปัจจุบันโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรงและที่ผ่านได้มีการสั่งการสธ.ทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ สำหรับรอบสัปดาห์ล่าสุด (วันที่ 14 – 20 เมษายน 2567) ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,004 ราย เฉลี่ยวันละ 143 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปตามรายงานของกรมควบคุมโรคว่า หลังสงกรานต์จะพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากการเล่นน้ำสงกรานต์ พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากขึ้น คือ กรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง

คาดว่า เป็นเพราะส่วนใหญ่มีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวังป้องกันตนเอง จึงเกิดการแพร่เชื้อมากขึ้น ทั่วประเทศมีผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบ 292 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรังซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 

จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ยังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูกโดยยังไม่พบว่า มีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา 

นางสาวตรีชฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลหรือสถานที่พยาบาลไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว ประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น รถสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ หากมีอาการคล้ายหวัด ตรวจ ATK ผลเป็นบวก ให้กินยารักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าอาการมากขึ้นให้ไปพบแพทย์ กลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) หากมีอาการคล้ายหวัด ตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากอนามัยและรีบพบแพทย์รับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง

โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากรทางการแพทย์ เตียงรองรับผู้ป่วย เวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ขอประชาชนอย่าได้วิตกกังวลหรือตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขพร้อมดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด