ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 19เม.ย. “อ่อนค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 36.85 บาท/ดอลลาร์

19 เม.ย. 2567 | 00:50 น.

ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูงมีโอกาสแตะ 37.00บาทต่อดอลลาร์ เหตุผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เงินดอลลาร์ยังรีบาวด์แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 19เม.ย. 2567ที่ระดับ  36.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.78 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ และอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า ทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังคงมีอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม

(ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอลงบ้าง หลังดัชนี SET ก็ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับหลัก) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ยังรีบาวด์แข็งค่าขึ้น จากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่อาจยังไม่คลี่คลายในเร็ววันนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE เพราะหาก ยอดค้าปลีกของอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE ก็มีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลกดดันให้

 

 

เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้ คล้ายกับในช่วงวันพุธ 17 เมษายน ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ออกมาสูงกว่าคาด จนทำให้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ (และชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท)

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-37.00 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.74-36.86 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

และดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ต่างก็ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยในเร็ววันนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงสู่เป้า 2% ได้ช้ากว่าคาด ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในจังหวะการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทบ้าง

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

อีกทั้งรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในช่วงนี้ ก็ออกมาไม่ได้สดใสนัก เหมือนในช่วงการรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากบรรดาหุ้นกลุ่ม Defensive ทั้ง Utilities และ Healthcare Services ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.22%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.24% หนุนโดย รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ABB +6.3% และการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มการเงิน ท่ามกลางความหวังว่า ผลประกอบการหลายธนาคารจะออกมาสดใสเหมือนกับ Bankinter +5.3% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไม่ต่างจากตลาดหุ้นอื่นๆ

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง สู่ระดับ 4.63% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมั่นใจในแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ

เราคงมุมมองเดิมว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับปัจจุบัน จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เนื่องจากเรายังคงประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดราว 3-4 ครั้งได้ ทำให้ เรามองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) และ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 106.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.2 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ทว่า ราคาทองคำก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจมีโทนการสื่อสารไม่ต่างจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก่อนหน้า คือ เฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย จากแนวโน้มการชะลอตัวลงช้ากว่าคาดของอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งอังกฤษ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมีนาคม รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งอาจมีผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ BOE ที่ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้แนว 36.90 ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ 36.84-36.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.23 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย) ที่ออกมาดีกว่าที่คาด และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตอกย้ำโอกาสที่เฟดจะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไหว้ที่ 36.80-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น  และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด