สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ 'ตรงไปตรงมา รักษาสัตย์ คาถาความสำเร็จ'

30 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
หากจะกล่าวถึงคนในวงการค้าข้าวของเมืองไทย ชื่อเสียงของบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด เป็นที่รู้จักกันในนามของผู้ส่งออกข้าวที่ผงาดขึ้นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันนาน 4-5 ปี จนถึง ณ ปัจจุบัน ทั้งหมดทั้งปวงของความสำเร็จนี้มี “สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์” ประธานหรือบอสใหญ่ของบริษัทนั่งกุมบังเหียนอยู่เบื้องหลัง หลังจากที่ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สนทนากับเขาทำให้ทราบว่า กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ เส้นทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายครั้งหลายครา ต้องล้มลุกคลุกคลานเลือดตาแทบกระเด็น!!

“ผมสร้างธุรกิจมาด้วยมือของผมเอง สู้ตั้งแต่เป็น 0 เริ่มตั้งแต่เป็นออฟฟิศ บอย กวาดถูพื้น จากที่บ้านไม่ค่อยมีเงิน พ่อค้าขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ แม่เป็นแม่ค้าขายของในตลาด มีลูก 6 คน ผมเป็นคนสุดท้อง เวลาจ่ายค่าเล่าเรียนที แม่ต้องไปหยิบยืมเงินคนอื่นมาจ่าย โชคดีที่ผมอยู่กับแม่ช่วยขายของ ขายทุกอย่างทำให้เราซึมซับความเป็นพ่อค้า พอ ม.3 เรียนยังไม่จบดี อายุ 16 ก็ทำงานเลย ไปฝึกเป็นเด็กออฟฟิศ อยู่ร้านหยง (หยงคือนายหน้าค้าข้าว เป็นตัวกลางซื้อขายข้าวระหว่างโรงสีกับผู้ส่งออกหรือพ่อค้าขายส่งข้าวในประเทศ)”

สมบัติย้อนเล่าถึงอดีตเมื่อวันวานว่า หลังจากฝึกมาสัก 2-3 ปี อายุ 18 ปี เจ้านายรักจึงได้ผลักดันให้ไปเป็นเซลส์(พนักงานขาย) ทำให้มีรายได้ดี สมัยนั้นมีรายได้เดือนหนึ่งตก 2-3 หมื่นบาทถือว่ามาก เก็บเงินสะสมไว้ได้หลายแสนบาท พออายุ 21 ปี สมบัติได้ก้าวขึ้นเป็นหลงจู๊(ผู้จัดการ) หยงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ได้นำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทจนเป็นหยงข้าวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

“ก็ทำหยงอยู่อีก 3-4 ปี พอปี 2531 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงเศรษฐกิจของประเทศบูม ผมมีเงินแค่หลักล้านแต่มีเครดิตดี ก็ไปลุยธุรกิจซื้อขายที่ดิน ซื้อเช้าขายเย็น ซื้อเย็นขายเช้า ตอนนั้นอายุ 24-25 ปีมีเงินเป็นร้อยล้าน ก็เลยออกจากวงการข้าวไปทำธุรกิจซื้อขายที่ดิน และบ้านจัดสรร แต่พอมาถึงปี 2533 ก็เจอซัดดัม(ช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย) ปี 2535 เจอ รสช.(เกิดการรัฐประหารในไทย)ตอนนั้นเจ๊งราบเลย ที่ดินก็ติดมือ เป็นหนี้แบงก์หลายร้อยล้าน”

ด้วยเหตุข้างต้นทำให้ปี 2536 “สมบัติ” ได้กลับมาทำอาชีพหยงอีกครั้งทำในสิ่งที่ถนัด ทำหยงมาราว 3-4 ปี ในปี 2542 จึงได้ก่อตั้งบริษัทส่งออกข้าวนาม “เอเซีย โกลเด้น ไรซ์” ค่อยๆ ปลุกปั้นบริษัทขึ้นมา และธุรกิจส่งออกข้าวดีขึ้นตามลำดับในปี 2544-2545 ก็สามารถเคลียร์หนี้แบงก์ได้ทั้งหมด

“ถือเป็นโชคดีที่ผมล้มก่อนปี 2540 ที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มกุ้ง ธุรกิจล้มกันระเนระนาด เพราะตอนนั้นเราไม่มีเครดิต และค่อยๆ ฟื้นธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง หากผมล้มในปี 2540 นี่ฟื้นยากเลย อย่างไรก็ตามตอนที่มาเปิดบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ฯ ผมก็ถูกคู่แข่งในวงการข้าวรับน้องใหม่ถึง 2 รอบก็แทบเซเหมือนกัน เพราะเขารู้ว่าเรารับออร์เดอร์ข้าวราคาเท่าไหร่ไว้ในมือ เขาก็ไปไล่ซื้อจนราคาสูง เราต้องซื้อตามเพราะไม่มีของเพื่อส่งมอบลูกค้า ทำให้ขาดทุน ตอนนั้นใคร ๆก็คิดว่าผมคงเจ๊งแล้ว แต่เราก็ประคับประคองตัว จนค่อย ๆ ดี ค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมา”

ปัจจุบันเอเชีย โกลเด้นไรซ์ มีธุรกิจข้าวครบวงจร ทั้งบริษัทส่งออก บริษัทหยง มีโรงสีข้าวทั้งในและต่างประเทศ(ที่กัมพูชา) มีโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว มีเรือ มีรถขนส่ง มีธุรกิจข้าวถุง และบริษัทผลิตถุงข้าวสาร ต้องดูแลพนักงานและคนงาน 600- 700 ชีวิต ทั้งกำลังขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวและธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับข้าวที่ยังไม่อยากเปิดเผยในเวลานี้

“หลักการบริหารที่ผมยึดมั่นเป็นแนวทางในการทำงานมาโดยตลอดคือ สิ่งไหนถ้าพูดไปแล้ว หรือรับปากกับใครแล้ว จะมีความซื่อสัตย์ไม่ผิดสัญญา จะมีความตรงไปตรงมา ทำอะไรต้องรักษาคำพูด เวลานี้ในบริษัทผมจะดูแลในเชิงนโยบาย และเป้าหมายเป็นหลัก ส่วนในทางปฏิบัติก็จะมอบหมายให้แต่ละส่วนงานไปดำเนินการ และบริหารในส่วนที่เขารับผิดชอบ ไม่ไปก้าวก่าย แต่เราก็อยู่กันแบบพี่ๆ น้องๆ เป็นแบบครอบครัว ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งจากนี้ก็จะดึงคนรุ่นใหม่ๆ และมืออาชีพมาช่วยทำงานมากขึ้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559