ถึงเวลา ‘ใส่ผ้าไทย’-นุ่งซิ่น’

24 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
“ผ้า” หนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผืนผ้าที่ถูกถักทอรังสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่ปกปิดและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ยังทำหน้าที่ในการบอกคุณค่า ความเป็นมา ภูมิลำเนา ความศิวิไลซ์ของกระบวนคิดและกระบวนการก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น หลอมรวมเป็นมรดกของชาติต่อไป

[caption id="attachment_74151" align="aligncenter" width="500"] อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)[/caption]

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างชนชาติผ่านการเดินทาง การค้าขาย และเทคโนโลยีใหม่ในแนวทางของกระบวนการโลกาภิวัตน์และการพัฒนาของอุตสาหกรรมให้ส่งผลให้เกิดการหลอมรวมเป็นหนึ่งผ่านการสร้างมาตรฐานแบบเดียวกัน เกิดเป็นเครื่องแต่งกายที่มีลักษณะคล้ายๆกัน ทำให้คนทั้งโลกถูกกำหนดขนาดร่างกายออกเป็นไซต์เหมือนกันคือ S M L และ XL รวมถึงการขยายขนาดลูกๆ ไซต์ตามๆ กันมาอย่าง XS หรือ XXL เป็นต้น เสื้อผ้าที่เคยวัดและตัดเย็บโดยช่างฝีมือก็ถูกเปลี่ยนเป็นการซื้อในราวไม้แขวนที่กระจายสินค้าแบบเดียวกันไปทั่วโลก ซึ่งต้องยอมรับว่าภายใต้ความสวยงามที่มีมาตรฐานนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ขาดไปคือความละมุนละไมของการได้พิจารณาเนื้อผ้า ลายผ้า และองค์ประกอบของเส้นด้ายๆ ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นเครื่องแต่งกาย

ความเข้าใจในจิตวิญญาณของผ้าที่ส่งต่อจากผู้ถักทอของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มิได้หยุดเพียงแค่ทรงตกหลุมรักในฝีมือและนำมารังสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายเฉกเช่นหญิงสาวที่รักในแฟชั่นและความงามเท่านั้น แต่พระองค์ยังสานต่อฝีมือและมรดกทางภูมิปัญญาในประชาชนของพระองค์จนเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อเก็บรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมยกระดับผืนผ้าจากภูมิปัญญาไทยด้วยการตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์สุดงามสง่าไปสู่สายตาคนทั่วโลก

ด้วยแรงบันดาลใจจากองค์ราชินี ปัจจุบันนักออกแบบชื่อดังและนักออกแบบรุ่นใหม่ รวมถึงช่างตัดเย็บในพื้นที่ต่างๆ เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าจนเกิดเป็นชุดจากผ้าที่ที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคุณสุธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ ภัณฑารักษ์พิพิภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ผ้าไทยในโลกแฟชั่น” อย่างน่าสนใจว่า

“ทุกประเทศมีผ้าไหม ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี ญี่ปุ่น จีน หรือประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระปรีชาญาณในการทำให้ผ้าไหมไทยมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับผ้าไหมของต่างชาติ คือการทอผ้าไหมด้วยมือ ด้วยกี่กระทบ วัฒนธรรมการทอผ้าของเรายังอยู่ใต้ถุนบ้านของราษฎร ในขณะที่ต่างประเทศการทอผ้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต่างบ้านต่างเมืองมีของเหล่านี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ การทอผ้าของเรายังอยู่ในชีวิตประจำวัน ยังเป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่ เหล่านี้ก็เพราะด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯขึ้น เพื่อเก็บรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติการที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ดีไซเนอร์ หรือนิตยสารแฟชั่น ช่วยกันปลูกฝังเรื่องการใช้ผ้าไทยมาโดยตลอด เหมือนเป็นการหว่านข้าวเปลือกไปบนดิน กว่าจะมีเมล็ดพันธุ์ขึ้นสักเมล็ดหนึ่ง ก็ต้องใช้เวลา หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า แนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชินีนาถในการที่จะทรงทำให้ผ้าไทยเป็นที่นิยม ดังรับสั่งที่ว่า ‘ขาดทุนของฉัน คือกำไรของประชาชน’ ผมคิดว่าคนที่ใช้ผ้าไทยเป็นผู้เสียสละ เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างให้คนอื่น ๆ ในประเทศชาติ เวลานี้มีกลุ่มคนที่หันมานุ่งผ้าซิ่น โจงกระเบน หรือกลุ่มคนที่นำผ้าไทยมาตัดเย็บเสื้อผ้า หลังจากนำมาสวมใส่ก็ต้องดูแลรักษา จึงต้องอาศัยความชอบส่วนตัวจริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง”

[caption id="attachment_74150" align="aligncenter" width="500"] ถึงเวลา ‘ใส่ผ้าไทย’-นุ่งซิ่น’ อนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)[/caption]

นอกจากนั้นในฐานะดีไซเนอร์และเจ้าของห้องเสื้อ HOOK’s by PRAPAKAS คุณประภากาศ อังศุสิงห์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ก่อนที่เราจะไปขายเมืองนอกหรือตลาดโลกต้องเริ่มจากตลาดในก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้การใช้ผ้าไทยเป็นสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ได้เห็นเพื่อน ๆ ที่อายุ 35-40 ปี เริ่มหันมานุ่งผ้าไทยไปทำงานกันเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการซื้อขายผ้าไทยผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ดังนั้นการจะให้ผ้าไหมไทยไปสู่ตลาดโลกได้นั้น ต้องเริ่มจากหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะรัฐบาลหรือภาครัฐที่มีส่วนในการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง”

และด้วยเจตจำนงในการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หนึ่งในองค์กรที่ร่วมสืบทอด ศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไทย เพื่อเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 ด้วยการรณรงค์ให้ผู้บริหาร และพนักงานทุกสาขา ทั่วประเทศแต่งกายด้วยชุดไทยในทุกครั้งที่มีการจัด กิจกรรมทำบุญตักบาตร รวมถึงให้บริการลูกค้า ประชาชนในวันศุกร์ตลอดปี 2559 ซึ่ง ธอส. ต้องการส่งเสริมให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจในวิถีแบบไทย และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าประชาชนที่เดินทางเข้ามาติดต่อหรือทำธุรกรรมกับธนาคาร ในบรรยากาศของการให้บริการที่งดงาม มีเอกลักษณ์ ของความเป็นไทย และยังถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของกลุ่มผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผ้าไทยได้อีกทาง

การรณรงค์ใส่ผ้าไทยของ ธอส. ในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริม ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่เพียงแต่เฉพาะในวันสำคัญเท่านั้น แต่เพื่อให้ ประชาชนชาวไทยทั้งชาติตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไทย ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่คู่คนไทยตลอดไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559