‘สมคิด’ขาน5ชื่อบิ๊กธุรกิจญี่ปุ่น ตอบรับเทหมื่นล้านลงทุนไทย

22 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
“สมคิด” รายงานผลเยือนญี่ปุ่น 5 บิ๊กธุรกิจแดนซากุระตอบรับเยี่ยมพร้อมเทลงทุนปีนี้ 1 หมื่นล้านหนุนไทยฟื้นเศรษฐกิจ ทูตชี้นักลงทุนญี่ปุ่นยังเชื่อมั่น ปักหลักไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค ปลื้มความร่วมมือ“ไจก้า-เนด้า” ยิ่งผนึกความเหนียวแน่นเพิ่มอีกขั้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตามที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เร่งผลักดันการลงทุนเพื่อให้มีเม็ดเงินกระจายเข้าระบบเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่ภาครัฐใช้มาตรการกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยเร่งทั้งการลงทุนภาครัฐ ผ่านแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ที่จะเริ่มทยอยลงมือจากนี้แล้ว ยังกระตุ้นภาคเอกชนให้รีบตัดสินใจลงทุน แม้ภาวะเศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นโอกาส เพราะไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต หากลงทุนวันนี้จะพร้อมเดินเครื่องการผลิตพอดีกับช่วงเศรษฐกิจฟื้น และได้เดินสายเยือนประเทศที่มานักลงทุนมาลงทุนเมืองไทยในสัดส่วนสูง อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น

ทั้งนี้ นายสมคิดได้ทำรายงานผลการเดินทางเยือนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม-1 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนของญี่ปุ่นอย่างดียิ่ง ให้ที่ประชุมครม.รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดNetworking Lunch กับผู้บริหารระดับสูงบริษัทชั้นนำรายใหญ่ 5 บริษัท ที่ตอบรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และแสดงความจำนงจะลงทุน หรือให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย

[caption id="attachment_73456" align="aligncenter" width="355"] ฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูต และรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูต และรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย[/caption]

ด้านนายฮิเดโอะ ฟุคุชิมะ อัครราชทูต และรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เสียงตอบรับจากภาคเอกชนของญี่ปุ่น ภายหลังการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในขณะนี้เมื่ออาเซียนได้กลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) เดียวกัน ทำให้ผู้ลงทุนมองเห็นถึงความเหมาะสม ที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางของซัพพลายเชนในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ จะเห็นว่า ในบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ได้เข้าพบหารือกับทางคณะของรองนายกรัฐมนตรีสมคิดนั้น อาทิ บริษัท บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะฯ บริษัท อิโตชูฯ บริษัท โอตสุกะ ฟาร์มาซูติคอลฯ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นเวลานานมาแล้ว และมีการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร "ผมเชื่อว่าบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยมายาวนานหลายปี มีความเข้าใจ และไม่ได้กังวลอะไรมาก เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทมีการลงทุนต่อเนื่อง และไม่ได้โยกย้ายฐานการลงทุนไปที่ไหน"

อุปทูตญี่ปุ่นยังกล่าวถึงความร่วมมือล่าสุดระหว่างญี่ปุ่นและไทยในรูปแบบความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ คือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) กับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ เนด้า ที่เพิ่งลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Partnership Arrangement) ที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่น ที่จะให้ความสนับสนุนและความร่วมมือกับไทย ในฐานะพันธมิตรที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ซึ่งครอบคลุมสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ)

"ญี่ปุ่นและไทยมีความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ความตกลงล่าสุดนี้ แม้ยังไม่ลงลึกในรายละเอียดว่าจะมีโครงการอะไรบ้าง แต่เท่าที่เคยมีการหารือกันมาก็มีหลายความเป็นไปได้ รวมถึงการพัฒนาระบบการขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์" อุปทูตญี่ปุ่นกล่าว
ส่วนหนึ่งในรายงานผลการเยือนญี่ปุ่นดังกล่าว ระบุว่า .....ทุกรายพร้อมที่จะขยายการลงทุนในไทย เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย และมั่นใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ดีขึ้นในปีนี้
2.6 การพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่น

2.6.1 บริษัท Ajinomoto เป็นบริษัทผู้วิจัยพัฒนาและผลิตอาหารรายใหญ่ ให้ความสนใจนโยบายFood Innopolis ของรัฐบาลไทย คาดว่าในปีนี้มีแผนขยายการลงทุนในไทยประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดนอกญี่ปุ่นขยายการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนและอินเดียมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯขอให้รัฐบาลไทยช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตรในไทย และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา

2.6.2 บริษัท Otsuka Phamaceutical เป็นบริษัทผู้วิจัยพัฒนา ผลิตยาและอาหารเพื่อสุขภาพรายใหญ่ ได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในไทย สนใจนโยบายFood Innopolis และนโยบายการลงทุนใน EECของไทย รวมถึงให้ไทยเป็นฐานการผลิตอาหารเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคต่าง ๆ

2.6.3 บริษัท Itochu เป็นบริษัทรายใหญ่ระดับโลกที่ลงทุนในหลายอุตสาหกรรม แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลในโครงการในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ EEC รวมถึงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

2.6.4 บริษัท TEIJIN Limited เป็นผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่ ได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในไทย ให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ และได้ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษาของไทยเพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะและฝีมือตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

2.6.5 บริษัท DAICEL Corporation เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนความปลอดภัยด้านยานยนต์รายใหญ่ ในปีนี้คาดว่าจะมีแผนขยายการลงทุนในไทยประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนและอินเดีย โดยขอให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุนเรื่องความเป็นไปได้ในการขยายโรงงาน ซึ่งมีประเด็นอุปสรรคจากข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559