2 กลุ่มค้านทีพีพีเชียร์ให้แท้ง ชี้ยิ่งยื้อลดไทยเสียเปรียบ/หนังตัวอย่างทุบหมูญวนอ่วม

04 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
ภาคปศุสัตว์ –ภาคประชาชนเฮ หลังตัวเต็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเล่นบทไม่เอาทีพีพี หวังเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มแรงงาน ชี้ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งส่งผลดีประเทศไทยได้พิจารณาข้อดี-ข้อเสียอย่างรอบด้าน ขณะผู้ส่งออกชี้หากแท้งลดความได้เปรียบชาติสมาชิกทีพีพีมีแต้มต่อทางการค้าเหนือไทย ด้านสภาหอฯ ยังเชื่อที่สุดแจ้งเกิดได้เพื่อคานอำนาจจีน

[caption id="attachment_58804" align="aligncenter" width="700"] การค้าระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่มทีพีพี การค้าระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่มทีพีพี[/caption]

จากที่มีกระแสข่าวตัวเต็งผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ทั้งนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน มีแนวคิดต่อต้านการลดภาษีศุลกากรนำเข้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ขณะนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตได้เปลี่ยนท่าทีจากเคยเป็นผู้สนับสนุนการจัดทำทีพีพี แต่ก็ได้หันกลับมาวิจารณ์ทีพีพีในทางลบ โดยเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มธุรกิจและแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากทีพีพีนั้น

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" หากทั้งสองฝ่ายไม่เอาทีพีพี และถึงขั้นยกเลิกไปจริงๆ จะถือเป็นโชคดีมากๆ ของภาคปศุสัตว์ไทย เพราะที่ผ่านมาภาคธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากทีพีพีของไทยต่างพยายามผลักดันให้ไทยเข้าร่วม ขณะที่ภาคเกษตร และปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ผู้ปลูกข้างหรือข้าวโพดจะได้รับผลกระทบอย่างมากหากไทยเข้าร่วม เพราะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งทีพีพีมีความเปรียบในการผลิตที่มีขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำจะส่งสินค้าเข้ามาดัมพ์ตลาด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน

"แม้ทีพีพีจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ก็มีสัญญาณถึงผลกระทบแล้วโดยเวลานี้มีสินค้าชิ้นส่วนหมู(หมูซีก)จากสหรัฐฯถูกส่งเข้ามาขายในเวียดนามในราคาต่ำ และถูกส่งต่อมาขายในกัมพูชา มีผลให้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาไทยไม่สามารถส่งออกหมูมีชีวิตไปขายในกัมพูชาซึ่งปกติจะส่งออกไปขายวันละ 1-2 พันตัวได้ ดังนั้น เรื่องทีพีพีนี้ทางภาคปศุสัตว์มองว่าต้องยื้อการเข้าร่วมให้นานที่สุด เพื่อพิจารณาผลดี ผลเสียให้รอบด้าน"

ด้านวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มองว่าการหาเสียงของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ไม่เอาทีพีพี มองว่าเป็นการเล่นละครของทั้งสองฝ่ายเพื่อเรียกคะแนนเสียงให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งหากได้รับชัยชนะแล้วคงเปลี่ยนท่าที เพราะหากพิจารณากลุ่มทุนที่สนับสนุนสองพรรคใหญ่แล้วต่างมีจุดยืนสนับสนุนทีพีพี

ขณะที่ประธานาธิบดีบารักโอบามาคาดจะนำสนธิสัญญาทีพีพีที่ 12 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลงไปแล้ว(เมื่อ 4 ก.พ.59) เข้าสู่การลงคะแนนเสียงเพื่อผ่านรับรองของสภาคองเกรส หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี(เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.59) โดยจะกระทำก่อนที่จะมีพิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่(20 ม.ค.60) เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เรื่องทีพีพีอาจยืดเยื้อ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาทางกระทรวงวพาณิชย์ได้เชิญกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทซ์หารือที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการเข้าร่วมทีพีพี แม้ทางกลุ่มจะไม่สนับสนุนทีพีพีก็ตาม

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการ และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่าที่สุดแล้วมองว่าทีพีพีคงเกิดขึ้น แต่หากมีอุบัติเหตุทำให้ทีพีพีต้องล่มไปอาจส่งผลดีต่อไทย เพราะคู่แข่งขันที่อยู่ในทีพีพีจะไม่มีแต้มต่อสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามในส่วนของกลุ่มฮงส็งการทอ ซึ่งตนเป็นผู้บริหารอยู่ และมีโรงงานผลิตอยู่ทั้งในไทยและเวียดนามมองว่าไม่กระทบมาก เพราะหากฐานผลิตประเทศใดมีความได้เปรียบเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าในกรอบต่างๆ ก็สามารถเลือกใช้ฐานผลิตที่มีความเหมาะสมในการส่งออกได้

ขณะที่นายบันฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อนาคตของทีพีพียังไม่มีความแน่นอน ตัวแปรขึ้นอยู่กับการเมืองของสหรัฐฯ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ประเทศสมาชิกของทีพีพีสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าไทย ซึ่งสุดท้ายแล้วมองว่าประธานาธิบดีโอบามาคงผลักดันในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะสหรัฐฯต้องการคานอำนาจการค้าจีน

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ณ นครลอสแอนเจลิส รายงานว่า หากการพิจารณาและการลงคะแนนเสียงสนธิสัญญาทีพีพีดำเนินไปอย่างล่าช้า และเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯและสมาชิกสภาคองเกรสชุดใหม่จะเป็นตัวแปรสำคัญมากที่จะส่งผลกระทบต่อสนธิสัญญาต่างๆ ของสหรัฐฯรวมถึงเรื่องทีพีพีด้วย

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559