มานพชัย วงศ์ภักดี ‘ไทยควรมีบีโอไอประจำฮานอยและโฮจิมินห์’

27 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
ในโอกาสที่มาเยือนและร่วมในพิธีเปิดสาขานครโฮจิมินห์ ของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ”ได้มีโอกาสพูดคุย กับ “นายมานพชัย วงศ์ภักดี” เอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม ณ กรุงฮานอยพร้อมได้อัพเดตสถานการณ์การค้าการลงทุนในเวียดนาม แม่เหล็กทียั่งดึงดูดกลุ่มทุนไทยเข้ามาลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นเพราะปัจจัยใดมีคำตอบดังนี้

[caption id="attachment_56408" align="aligncenter" width="700"] ธุรกิจไทยที่ลงทุน ร่วมทุนในเวียดนาม ธุรกิจไทยที่ลงทุน ร่วมทุนในเวียดนาม[/caption]

มูลค่าการค้า 2ประเทศเพิ่มต่อเนื่อง

สถิติการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามเมื่อปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยแนวโน้มปริมาณการค้า 2 ประเทศปีนี้ก็ยังเพิ่มขึ้น ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุล ส่วนเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ ( Foreign Direct Investment ) ในเวียดนามปี 2558 มีมูลค่า 14.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(5.16 แสนล้านบาท) โดยการลงทุนไทยในเวียดนามเป็นอันดับที่ 11

สำหรับตัวเลขเอฟดีไอของไทยที่ไปลงทุนในเวียดนาม (นับตั้งแต่ที่มีการลงทุนปีแรก)ถึงสิ้นปี 2558 คิดเป็นมูลค่าสะสม 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.67 แสนล้านบาท ถือเป็นจำนวนมากมหาศาล เช่นการเข้ามาซื้อกิจการค้าปลีก ( กลุ่มเซ็นทรัลซื้อกิจการบิ๊กซีในเวียดนาม จากกลุ่มคาสิโนฝรั่งเศส งบลงทุน 3.68 หมื่นล้านบาท , บริษัท ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่นฯ หรือ TCC Holding ซื้อกิจการขายส่งสินค้า "เมโทรแคชแอนด์แครี่ " จากเมโทรกรุ๊ปเยอรมนี 2.56 หมื่นล้านบาท ) การเข้ามาร่วมทุนในนิคมอุตสาหกรรมเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ,การร่วมลงทุนสร้างโรงแรมในเวียดนามของบริษัทโรงแรมที่มีชื่อเสียงของไทย ฯลฯ

ลงทุนไทยในเวียดนามทะลุ 1หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

" ทำให้เรามั่นใจว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนไทยในเวียดนาม จะเพิ่มมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่มีสะสมกว่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นคาดว่าภายในสิ้นปี อาจเห็นตัวเลขลงทุนของไทยสะสมขึ้นไปเป็นกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 3.56 แสนล้านบาท ) เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ปัจจัยทางบวก "

ชูยุทธศาสตร์หุ้นส่วนในทุกมิติ

นายมานพชัย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของทั้งนักธุรกิจไทย แม้แต่ภาครัฐเองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้ามาสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในเวียดนาม ,สายการบินไทยเพิ่มไฟลต์บินมากขึ้น หรือบางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ ที่มีเที่ยวบินตรงไปเมืองอื่นที่ไม่ใช่แค่ฮานอย หรือโฮจิมินห์ซิตี ฯลฯ

ถามว่าทำไมช่วงนี้ถึงมีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ด้านการค้า การลงทุน เกิดขึ้นมากมาย ต้องย้อนกลับไปดูว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด อยู่ในระดับที่เรียกว่าดีเยี่ยม ทั้ง 2 ประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อย่างสม่ำเสมอ และผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายก็มีความเห็นพ้องกันหลายด้าน จนนำไปสู่ความตกลงกันที่จะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในทุกมิติเมื่อปี ค.ศ. 2013 เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของเวียดนามในสายตาของประเทศไทย ทั้งสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน หรือในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีแรงงานของทั้ง 2 ประเทศก็ได้มีการหารือ อนุมัติแรงงานเวียดนามในภาคกลาง ให้สามารถเข้าไปทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความมั่นใจของภาครัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย

ศักยภาพศก.แม่เหล็กดูดการลงทุน

อีกทั้งศักยภาพของเวียดนาม จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องมากกว่า 6% กำลังซื้อเวียดนามประชากร 91 ล้านคน และประชากรกว่าครึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งหมายถึงว่าเวียดนามมีแรงงานจำนวนมาก สามารถเข้าสู่ตลาดได้ทุกปี

อย่างในปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเวียดนามที่มาเที่ยวไทย มีถึง 7 แสนคน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่มีเที่ยวในเวียดนามมีประมาณ 2 แสนคน รวมแล้ว 9 แสน ในปีนี้เรามีความเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยว 2 ฝ่ายที่จะมีการเยือนกัน จะต้องมากกว่า 1 ล้านคน ยิ่งได้ดูจากตัวเลขคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจ โดยปี 2558 เศรษฐกิจเวียดนามโต 6.8% และในปีนี้คาดจะโตไม่ต่ำกว่า 6.5 % ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น และรายได้ประชาชาติก็เพิ่มขึ้นตลอด

" ภูมิภาคอื่นของโลก ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้คงไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก โดยเฉพาะในช่วงนี้ เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นเต็มที่ แต่ในอาเซียน มี 3-4 ประเทศที่มีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นอย่างมาก

อย่างสหรัฐ ฯ ก็ประกาศเข้ามาลงทุนเรียลเอสเตตที่ชานเมืองโฮจิมินห์ มูลค่าโครงการถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และพร้อมจะสร้างเมืองบริวารขึ้นติดทางภาคใต้ของเวียดนาม และบริษัทธุรกิจเกษตรสหรัฐ ฯขนาดใหญ่ อย่างกลุ่มซินเจนทาคงเข้ามาด้วย เวียดนามเปิดกว้างการลงทุนทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะไทย "

ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ

สำหรับบริษัทไทยหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม เป็นระยะเวลาเกินกว่า 20 ปี เช่นในภาคเกษตร การสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงกุ้ง หรือกลุ่มผลิตวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ (ตารางประกอบ) ฯลฯ สิ่งที่เกิดจึงไม่ใช่กระแสที่เกิดขึ้นในทันที แต่มีความต่อเนื่องและเป็นการมองเพื่อผลในระยะยาว เป็น Longterm Partner หาประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ อาทิกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง หรืออาเซียน เหล่านี้เป็นปัจจัยเอื้อ ที่ไม่ใช่เฉพาะไทยกับเวียดนาม ยังต้องคิดไปถึง ลาว กัมพูชา เมียนมา ซึ่งเป็น 5 ประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความพร้อมจะร่วมผนึกกำลังด้านเศรษฐกิจการเมือง ทรัพยากร สื่อสารคมนาคม ตลอดจนการเคลื่อนย้ายของประชากร ทำให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นฐานกำลังการผลิตของโลก ความร่วมมือด้านพลังงาน และแหล่งท่องเที่ยวของภูมิภาคและของโลก

ชี้ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ

ข้อได้เปรียบ -เสียเปรียบ ของการมาลงทุนในประเทศเวียดนาม เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย กล่าวว่าประเด็นสำคัญคือค่าแรง ต้นทุนการผลิตเขาถูกกว่าเรามาก ประมาณ 1 ใน 3 ของค่าแรงไทย ส่วนข้อได้เปรียบคือประเทศเวียดนาม มีการตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งกับสหรัฐ ฯ และกับสหภาพยุโรป รวมทั้งยังเป็นสมาชิกตามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชีย –แปซิฟิก (ทีพีพี ) ซึ่งหากนักธุรกิจจะพิจารณา ย้ายฐานการผลิตสินค้าหลายอย่างที่ต้องใช้แรงงานมาก หรือประสบปัญหาแรงงานก็จะมาที่เวียดนาม เพราะมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค

แนะSMEsไทยรวมตัวเป็นคลัสเตอร์

อย่างไรก็ดีก่อนจะเข้ามาลงทุน ตนอยากจะแนะนำให้ศึกษาข้อมูลระเบียบข้อกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการเสียเวลา โดยในกรณีของบริษัทขนาดใหญ่และกลางที่เข้ามา ส่วนใหญ่ก็จะมีการซื้อข้อมูลจากบริษัทต่างประเทศอยู่แล้ว ส่วนบริษัทขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เงินทุนไม่มาก อยากแนะนำให้รวมตัวเป็นคลัสเตอร์เข้ามาดีกว่า เหมือนกับเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น ที่กำลังย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย ก็มาในลักษณะรวมตัว เพราะความต้องการของเอสเอ็มอีในการหาซื้อที่ดิน เช่าที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม จะไม่ใหญ่เท่ากับบริษัทขนาดใหญ่

" ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้รับการลงทุนมา 50-60 ปี และตอนนี้ภาคเอกชนไทยก็มีความพร้อมมีความสนใจที่จะออกมาลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นไทยควรจะมีหน่วยงานของรัฐ หรือบีโอไอ ประจำในเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศมองเป็นเรื่องสำคัญมาก และหากมีหุ้นส่วนท้องถิ่น (Local Partner )ที่ไว้ใจได้ ก็จะช่วยให้กิจการราบรื่นขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559