มหาดไทย ประชุมผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ผ่าน Video conference

09 พ.ค. 2559 | 08:42 น.
[caption id="attachment_51263" align="aligncenter" width="503"] S__860163 กฤษฎา บุญราช[/caption]

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้  (9พ.ค.59) ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในส่วนกลาง ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และถ่ายทอดสดการประชุมฯ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล Video conference, DOPA TV และระบบ DOPA Radio ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยในระดับจังหวัดและอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังการประชุมฯ รวมทั้งได้มีการทดสอบระบบการสื่อสารของกระทรวงมหาดไทยทุกช่องทางทั้งเสียงและภาพผ่านดาวเทียมและสัญญาณ fiber optic โดยการติดต่อสื่อสารในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกว้างไกล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมพร้อมที่จะใช้ระบบสื่อสารทั้งหมดในการติดต่อประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกพื้นที่ต่อไป

สำหรับการประชุมฯในวันนี้ โอกาสแรกปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ฝากขอบคุณ  ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ และในวันนี้กระทรวงมหาดไทยมีวาระสำคัญเร่งด่วน 3 เรื่อง ที่จะต้องเร่งชี้แจงและซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และขอรับฟังปัญหาอุปสรรคในการปฎิบัติในพื้นที่จังหวัดและอำเภอ ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย โดยกำชับให้ทุกจังหวัดยึดระเบียบกฎหมายในการใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งงบประมาณที่ใช้ในการป้องกัน - ก่อนเกิดเหตุ และงบเยียวยา - หลังเกิดเหตุ โดยให้นายอำเภอรายงานพื้นที่ที่เกิดเหตุภัยพิบัติให้ชัดเจนว่าเกิดเหตุในกี่หมู่บ้าน กี่ตำบล เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามข้อเท็จจริง รวมทั้งขอให้ดูเงื่อนไขของการใช้งบประมาณเชิงป้องกันให้ชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ ก่อนที่พื้นที่ใดจะขอใช้งบกลาง ในเชิงป้องกันนั้น ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดูแลในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก ดูสภาพพื้นที่หากมีความเสียหายมาก ให้อำเภอบูรณาการทุกหน่วยงานลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วมกับท้องถิ่นโดยเร็ว

และขอเน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการในพื้นที่ โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 1.การแบ่งกำลังคน ขอให้มอบรองผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ให้ฝ่ายปกครองและ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุข และอาสาสมัครต่างๆ โดยแบ่งคนให้ชัดเจน พร้อมมอบภารกิจให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน  2 . การแบ่งพื้นที่    3. การแบ่งเครื่องมือ โดยให้สำรวจเครื่องมือและอุปกรณ์ของราชการที่มีในพื้นที่ว่ามีของหน่วยใดบ้าง  และ4. การแบ่งช่องทางการสื่อสาร ในระดับพื้นที่จากหมู่บ้านตำบล ถึงอำเภอ ใช้ช่องทางใดบ้าง และจากจังหวัดถึงกระทรวงมหาดไทย ถึง PMOC รัฐบาล รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อความผ่าน social media ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

สำหรับสถานการณ์สาธารณภัย ต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ขอกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สื่อสารไปยังท้องถิ่นติดตามสถานการณ์แต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งกรณีพายุฤดูร้อนที่ภาคอีสาน รวมทั้งเหตุไฟไหม้ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ- ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ โดยล่าสุดได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วนว่าขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้แล้ว ซึ่งถือว่ามีการทำงานอย่างรวดเร็ว

ส่วนปัญหาไฟป่าในพื้นที่อื่นๆ  ขอให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลเขตอัคคีภัย โดยกำหนดระยะเวลาเริ่มต้น - สิ้นสุด พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุไฟป่าจากการกระทำของมนุษย์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พยายามหาตัวผู้กระทำผิดและใช้มาตรการจับกุมลงโทษ และออกกฎกติกา ปลุกจิตสำนึกไม่ให้มีการเผา รวมทั้งการชี้แจงประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลสถาณการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ด้วย

ด้านปัญหาภัยแล้ง ปีนี้มีปัญหาแล้งมากที่สุด คาดว่าจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม คือตั้งแต่พฤษภาคมถึงกรกฎาคม ซึ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำอาจมีปัญหาน้ำหลาก หากฝนตกใต้อ่างเก็บน้ำก็อาจจะมีปัญหาเช่นกัน จึงขอให้ทุกพื้นที่เตรียมพร้อมและติดตามสถาณการณ์

และเน้นย้ำอีกครั้งในการใช้งบประมาณเชิงยับยั้ง เมื่อเล็งเห็นผลที่คาดว่าจะเกิดภัย ต้องใช้ในรูปแบบคณะกรรมการและเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน วงเงิน 50 ล้านบาท  และภัยอื่นๆ  20 ล้าน

สุดท้าย ในเรื่องสาธารณภัยขอให้ทุกจังหวัดได้เตรียมพร้อมวางแผน และวางระบบให้ดีมากขึ้น  เพื่อให้เกิดการทำงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รองรับภัยต่างๆ ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนนับจากนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอดูแลความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่และลงพื้นที่ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ขอฝากให้การไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกับกรุงเทพมหานครในกรณีเกิดฝนตกในกรุงเทพมหานครทุกครั้งด้วย

2. เรื่องการบริหารโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 2 แสนบาท) ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

ขณะนี้ กำลังเร่งตรวจสอบว่า หมู่บ้านใดได้พิจารณาโครงการสำคัญใดผ่านไปแล้วบ้าง จึงขอให้จังหวัดและนายอำเภอได้อำนวยการ กำกับ และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการ พร้อมรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกสัปดาห์ และฝากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องประชาชนได้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย

3. การเตรียมการให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในการลงประชามติ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการการคัดเลือกครูก. และครู ข. และบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รัฐวิสาหกิจ ในการสนับสนุนการออกเสียงประชามติ  โดยเฉพาะการคัดเลือกครู ก.จำนวน 5 คนในแต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมในการคัดเลือกบุคลากรตามที่กำหนดแล้ว และจะเข้าร่วมอบรมในวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2559 เพื่อรับทราบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจาก กรธ. และแนวทางการชี้แจงของ กกต. ที่ได้กำหนดข้อห้าม และออกเป็นประกาศเพื่อไม่ให้ขัดต่อ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ซึ่ง ครู ก. ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีความระมัดระวังในการชี้แจงต้องดำเนินการไม่ให้ผิดกฎหมายและผิดวินัย

จึงขอฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลความเรียบร้อยระหว่างการชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยหากมีความเห็นต่างและเกิดความวุ่นวาย ต้องเป็นคนกลางในการแก้ปัญหาและประสานงานกับหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่  ในกรณีที่ประชาชนเกิดข้อสงสัย ในสิ่งที่ตัวแทนชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญไม่ทราบข้อเท็จจริง ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งพนักงานอัยการจังหวัด เป็นที่ปรึกษาของตัวแทนชี้แจง เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง