งบการทหารเพิ่มในรอบ 4 ปี ผลจากความตึงเครียดในหลายภูมิภาคทั่วโลก

08 เม.ย. 2559 | 10:00 น.
รายงานจากสถาบันวิจัยของสวีเดนชี้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการทหารในปี 2558 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นปีแรกในรอบ 4 ปี

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม หรือ เอสไอพีอาร์ไอ ของประเทศสวีเดน กล่าวในรายงานที่ตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้ว่า งบประมาณด้านการป้องกันประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลกตลอดทั้งปี 2558 มีมูลค่า 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2557 โดยงบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นในภูมิภาคยุโรปตะวันออก เอเชีย และตะวันออกกลาง

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่ใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารสูงสุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 5.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.4% จากเมื่อปี 2557 อย่างไรก็ดี อัตราการลดลงนั้นชะลอตัวลงจากปีก่อนๆ

ในเอเชีย เอสไอพีอาร์ไอกล่าวว่า งบประมาณด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม สะท้อนถึงความตึงเครียดกับจีนและเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ งบประมาณในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียเพิ่มขึ้น 5.4% โดยมีอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้านการทหารสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 2.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.4% คิดเป็นสัดส่วน 49% ของการใช้จ่ายในเอเชีย-โอเชียเนียทั้งหมด

แซม เพอร์โล-ฟรีแมน นักวิจัยอาวุโสของเอสไอพีอาร์ไอ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านการทหารของจีนจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ไว้ที่ 6.3% ในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6.5-7% ดังนั้นงบประมาณด้านการทหารของจีนน่าจะคงที่อยู่ที่สัดส่วนประมาณ 1.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เหมือนเช่นตลอดช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ใช้จ่ายด้านการทหารมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 8.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียซึ่งตกลงไปเป็นอันดับ 4 ด้วยงบประมาณมูลค่า 6.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย

ขณะที่แนวโน้มของภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรวมมีการใช้จ่ายด้านการทหารที่เพิ่มขึ้น จากอานิสงส์ของเยเมนที่ใช้งบประมาณไป 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศอื่นๆ จะปรับงบประมาณลงไปเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการรุกล้ำทางทหารของรัสเซียเข้าไปยังพื้นที่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ หลังจากการรุกเข้าไปในเขตไครเมีย และปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศในยุโรปตะวันออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั่วทั้งยุโรปค่าใช้จ่ายในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.7%

งบประมาณด้านการทหารได้รับแรงกดดันนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจบางราย อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ลดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวลงท่ามกลางการใช้นโยบายรัดเข็มขัดทางการเงิน อย่างไรก็ดี เพอร์โล-ฟรีแมนกล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อปีก่อน และการขยายอิทธิพลของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ทำให้ประเทศเหล่านี้มีแผนจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารขึ้นเล็กน้อยในปี 2559

อังกฤษใช้จ่ายมากเป็นอันดับ 5 ในปีที่ผ่านมา สูงสุดในยุโรป ตามมาด้วยฝรั่งเศสในอันดับ 7 และเยอรมนีในอันดับ 9 ส่วนอินเดียอยู่ในอันดับที่ 6 และญี่ปุ่นอันดับ 8

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559