บูมเศรษฐกิจผ้าทอมือ กาฬสินธุ์-อุดรตั้งศูนย์ลุย

17 ส.ค. 2562 | 01:00 น.

 

สถาบันการศึกษาอีสานเร่งยกระดับผ้าทอพื้นบ้าน ม.ราชภัฏอุดรฯตั้งศูนย์สร้างสรรค์และออกแบบ ปลุกกระแสแฟชั่นผ้าทอลุ่มนํ้าโขง ม.กาฬสินธุ์เปิดศูนย์ความเป็นเลิศฯดูแลต้นนํ้ายันปลายนํ้าตอกยํ้าความวิจิตรผ้าแพรวา

 

ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (UDRU) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์และออกแบบผ้าและสิ่งทอ (Fabric and Textile Creative Design Center : FTCDC) ขึ้น เพื่อศึกษารวบรวมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ต่างๆ ของผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดอุดรธานี และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมไปถึง สปป.ลาว ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและความรู้ด้านผ้าทอพื้นเมือง อีกทั้งต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้คำปรึกษาผ่านการบริการวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ผ่านการออกแบบลายผ้า การตัดเย็บ แฟชั่นต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืน

บูมเศรษฐกิจผ้าทอมือ กาฬสินธุ์-อุดรตั้งศูนย์ลุย

ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย ประธานศูนย์ FTCDC: Fabric and Textile Creative Design Center อาจารย์สาขาวิชาออกแบบผลิต ภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอมือลุ่มนํ้าโขง กล่าวว่า ได้ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี จัดงานแฟชั่น นวัตกรรมผ้าและสิ่งทอชุมชน ครั้งที่ 1 (Fashion & Innovation in Fabric and Textiles 2019 : FIFT) ระว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา อุดรธานี เพื่อนำเสนอผลงานการออกแบบเสื้อผ้า สร้างมูลค่าเพิ่มผ้าทอผ่านแฟชั่นโชว์จากผ้าพื้นเมือง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผ้าทอพื้นเมืองลุ่มนํ้าโขง” ที่นำเอกลักษณ์การแต่งกายของคนในแถบลุ่มนํ้าโขง ได้แก่ จีน เมียนมา สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มาพัฒนาให้เป็นชุดร่วมสมัยจำนวน 40 ชุด

บูมเศรษฐกิจผ้าทอมือ กาฬสินธุ์-อุดรตั้งศูนย์ลุย

บูมเศรษฐกิจผ้าทอมือ กาฬสินธุ์-อุดรตั้งศูนย์ลุย

ด้านนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ผ้าขิตของอุดรเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ลํ้าค่า และมีเอกลักษณ์ชัดเจน โดยจังหวัดมุ่งยกระดับผ้าทอพื้นเมือง ให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติ ผ่านโครงการต่างๆ อย่างไรก็ดีการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จัดตั้งศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอขึ้น ถือเป็นการบูรณาการและร่วมกันพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางการค้าและการแข่งขันในภูมิภาคนี้มากขึ้น

 

ขณะที่ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ขึ้น เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (2562-2564) ส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับอาชีพและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่

ศูนย์ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะทำงานจากหน่วยงานและองค์กรทั้งภายในและภายนอก เพื่อร่วมกันทำงานโดยได้เน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม ที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ผ่านแผนงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

“การดำเนินงานในปี 2562 ช่วงไตรมาส 1-3 ทางโครงการได้ดำเนินงานพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ระดับต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า โดยระยะต้นนํ้าจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพการเลี้ยงหนอนไหม และคุณภาพของเส้นไหม รวมทั้งคุณภาพการฟอกย้อม ส่วนระยะกลางนํ้า เน้นรักษารูปแบบการทอผ้าแบบดั้งเดิมและการทอผ้าร่วมสมัย ตลอดจนการแปรรูปสิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม สู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ขณะที่ระดับปลายนํ้า เน้นการส่งเสริมการตลาด ภาพลักษณ์ที่ดี และการสื่อสารสาธารณะในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอพื้นเมือง ผ่านโครงการและกิจกรรมที่บูรณาการองค์ความรู้ โดยใช้ศักยภาพและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” รศ.จิระพันธ์กล่าว

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,496 วันที่ 15 - 17 สิงหาคม 2562

บูมเศรษฐกิจผ้าทอมือ กาฬสินธุ์-อุดรตั้งศูนย์ลุย