‘หมอเสริฐ’ควงล็อตเต้ ชิงดำดิวตี้ฟรี‘คิงเพาเวอร์’

20 เม.ย. 2562 | 01:56 น.

 ประมูลดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิเดือด “หมอเสริฐ” ผนึกล็อตเต้ ท้าชน คิงเพาเวอร์ ด้านเซ็นทรัล จับมือ ดีเอฟเอส กลุ่ม ไมเนอร์ ดึง เอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมวง 
    

การประมูลโครงการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี)สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) สนามบินสุวรรณภูมิ กำลังร้อนแรง จากการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มทุนหน้าใหม่เข้ามาแข่งขัน หลังจากธุรกิจนี้ตกอยู่ในมือของกลุ่มคิงเพาเวอร์มากว่า 10 ปีและกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2563
        

หลังจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ได้ปิดขายซองประมูลดิวตี้ฟรี และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อหาผู้ประกอบการแบบรายเดียว (Master concessionaire) ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563-31 มีนาคม 2574 เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเอกชนมาซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรีและรีเทลรวม 9 บริษัท ประกอบด้วย

 

ทุนใหญ่แห่ซื้อซองประมูล
  

บริษัทที่เข้าไปซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรี 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 2. บริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 3. บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่เข้าซื้อซองโครงการรีเทลอีก 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท คิงพาวเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด 3.บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด
    

จากนี้เอกชนที่เข้ามาซื้อซองประกวดราคาทั้ง 9 บริษัท จะไป joint venture กับรายใดนั้นจะต้องแจ้งทอท.ให้รับทราบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ นั่นก็คือวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ก่อนกำหนดวันยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้และจะเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

‘หมอเสริฐ’ควงล็อตเต้ ชิงดำดิวตี้ฟรี‘คิงเพาเวอร์’

ดึงพันธมิตรร่วมประมูล
    

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ”พบว่า 5 บริษัทที่เข้าซื้อซองประกวดราคาในครั้งนี้ มีการจับคู่ธุรกิจกับบริษัทเอกชนต่างประเทศ เพื่อที่จะเข้าไปท้าชิงประมูลดิวตี้ฟรีและรีเทลแข่งกับคิงเพาเวอร์ กลุ่มแรกคือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBA จะร่วมกับทางล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ของเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันมียอดขายดิวตี้ฟรี
และค้าปลีกท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 2 ของโลก มียอดขายอยู่ที่ 4,842 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ BA ได้มีการเจรจากับทาง Gebr Heinemann ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี จากประเทศเยอรมนี ที่มียอดขายอันดับ 6 ของโลก ประมาณ 3,200 ล้านยูโร เข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรีในครั้งนี้ แต่สรุปกันไม่ลงตัว
    

กลุ่มที่ 2  ได้แก่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด จะจับมือร่วมกับดีเอฟเอส เวนเจอร์ ประเทศสิงคโปร์ ผู้ประกอบการ ดิวตี้ฟรีที่สนามบินชางงี มาร่วมประมูล ในนามบริษัทเซ็นทรัล ดีเอฟเอส จำกัด ที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2561 โดยบริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ถือหุ้น 51% บริษัทดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ ถือหุ้น 49%
    

กลุ่มนี้ก็ได้ชิมรางประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เมื่อปีที่ผ่าน แต่แพ้กลุ่มคิง เพาเวอร์ไป แต่ไปชนะคิง เพาเวอร์ ในการชิงพื้นที่รีเทล สำหรับการประกอบการในพื้นที่ 1,400 ตารางเมตร ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา
    

กลุ่มที่ 3 บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)จะร่วมประมูลในนามบริษัท ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล : SSP International ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสนามบินในหลากหลายประเทศ 
    

กลุ่มที่ 4 บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่จะประมูลในนามบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)
    

กลุ่มที่ 5 คือ กลุ่มเดอะมอลล์ แม้จะไม่ได้เข้ามาซื้อซองดิวตี้ฟรี แต่สนใจประมูลพื้นที่รีเทล เนื่องจากก่อนหน้านี้เดอะ มอลล์ ก็ชนะการประมูลได้สิทธิ์สัมปทานบริหารร้านค้าเชิงพาณิชย์ ประเภทสินค้าและบริการ และประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมกับเปิดให้บริการภายใต้ชื่อ “เดอะ มอลล์ สกายพอร์ท” (The Mall Skyport) ในเดือนตุลาคม 2555 มีระยะเวลาสัญญา 10 ปี พื้นที่ 2,700 ตารางเมตร จ่ายผลตอบแทน 16.7 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี
    

ก่อนหน้านี้นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็ได้จับมือกับ The Shilla Duty Free ดิวตี้ฟรีของเกาหลีใต้ ในนามส่วนตัว เปิดให้บริการ The Shilla Duty Free Phuket และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น GMS Duty Free

 

คิงเพาเวอร์-ล็อตเต้ ชิงดำ
    

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการเปิดให้เอกชนมายื่นซองประมูลดิวตี้ฟรี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะโฟกัสพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิเป็นหลัก เนื่องจากมีพื้นที่มากถึง 12,021 ตารางเมตร และเป็นสนามบินที่มียอดขายดิวตี้ฟรีกว่า 82% ดังนั้นการประมูลครั้งนี้จะมีการแข่งขันอย่างหนักระหว่าง กลุ่มคิงเพาเวอร์ กับกลุ่มล็อตเต้ ที่จะร่วมมือกับ BA เนื่องจากกลุ่มล็อตเต้ ต้องการปักธงแบรนด์ดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งจากการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมี
นักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนต่อปี ก็ทำให้ยอดขายในธุรกิจดิวตี้ฟรี มีการขยายตัวสูงมากตามไปด้วย
    

“ล็อตเต้ยังมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรีของล็อตเต้ ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าโชว์ดีซี จะสามารถเปิดให้บริการได้เต็มตัว เนื่องจากล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี แม้จะเปิดให้บริการมาหลายปีแล้ว แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุน เพราะเปิดได้เฉพาะส่วนที่เป็นการขายสินค้าในประเทศเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถขายสินค้าดิวตี้ฟรี ได้ เนื่องจากติดปัญหาไม่มีส่งมอบในสนามบินสุวรรณภูมิ”
    

ขณะที่คิงเพาเวอร์ เจ้าของสัมปทานเดิม หลังจากทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและรีเทลในสนามบินสุวรรณภูมิ มาร่วม 12 ปี ยังต้องการรักษาพื้นที่นี้ไว้ เพราะคิง เพาเวอร์ มียอดขายดิวตี้ฟรีไม่ตํ่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี และเป็นสมรภูมิที่เป็นหน้าเป็นตาในการสร้างแบรนด์ของคิงเพาเวอร์ด้วย