โลจิสติกส์ไทย-เทศแข่งเดือด!! 5,000 บริษัท รุมแย่งเค้ก "อีอีซี"

05 เม.ย. 2562 | 08:20 น.


"อีอีซี" เนื้อหอม 5,000 บริษัทให้บริการโลจิสติกส์ รุมแย่งเค้ก! จากภาพรวมทั่วประเทศตั้งแล้วเกือบ 2.5 หมื่นราย กรมพัฒน์ชี้! แนวโน้มโตต่อเนื่อง ผลพวงโครงสร้างพื้นฐานขยายตัว ทั้งรถไฟ ท่าเรือ ถนน ศูนย์กระจายสินค้า อี-คอมเมิร์ซขยายตัว แนะ 6 คาถานำพาธุรกิจอยู่รอด

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ ท่าเรือ ถนน ศูนย์กระจายสินค้า และคลังสินค้า ฯลฯ มีการเชื่อมต่อระบบคมนาคมที่หลากหลายรูปแบบ สามารถอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ในประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ของรัฐบาล ทำให้ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

 

โลจิสติกส์ไทย-เทศแข่งเดือด!! 5,000 บริษัท รุมแย่งเค้ก "อีอีซี" ⇲ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็นอย่างมาก ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ หรือ มีมาตรฐาน และยกระดับการบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยระหว่างปี 2553-2561 กรมฯ ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองและระบบการบริหารจัดการธุรกิจจนได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ISO 9001 จำนวนกว่า 500 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องสัดส่วน 67% บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 13% ตัวแทนออกของรับอนุญาต 11% คลังสินค้า 5% และบริการโลจิสติกส์ครบวงจร 4%
 


"ในปีนี้ กรมฯ จะให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่พื้นที่อีอีซีมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจให้มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนได้อย่างแข็งแรง โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562) มีนิติบุคคลให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่อีอีซี จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,015 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 34,465.57 ล้านบาท แบ่งเป็น จ.ชลบุรี 3,560 ราย ทุนจดทะเบียน 22,942.01 ล้านบาท, จ.ระยอง 933 ราย ทุนจดทะเบียน 3,599.99 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 522 ราย ทุนจดทะเบียน 7,923.57 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในเขตอีอีซี คิดเป็น 20.18% จากจำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 24,852 ราย"

นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งดำเนินการในปัจจุบันเพื่อให้อยู่รอด คือ การปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดที่สูงเพิ่มขึ้น และให้เป็นที่ยอมรับในเชิงธุรกิจ รวมทั้งการสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจในระยะยาว โดยปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงและปรับเปลี่ยน ได้แก่ 1.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าสามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล

 

โลจิสติกส์ไทย-เทศแข่งเดือด!! 5,000 บริษัท รุมแย่งเค้ก "อีอีซี"

 

2.มีเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวาง พร้อมเปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร เพื่อเกิดการส่งงานให้กันและกัน เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

3.ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการรอบรู้และหลากหลาย

4.คุณภาพการให้บริการ คำนึงถึงลูกค้าและการให้บริการเป็นสำคัญ

5.รักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน เนื่องด้วยการแข่งขันของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ซึ่งต้องสามารถให้คำปรึกษาเพื่อลดกระบวนการทำงานของลูกค้า จะเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาการบริการเพื่อสร้างลูกค้าใหม่นำสู่การเติบโตของธุรกิจ

และ 6.มาตรฐานความปลอดภัยการให้บริการขนส่งสินค้า สามารถสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าว่าสินค้าถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยในเวลาที่กำหนด และดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน

 

โลจิสติกส์ไทย-เทศแข่งเดือด!! 5,000 บริษัท รุมแย่งเค้ก "อีอีซี"

 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562) ประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวนทั้งสิ้น 24,852 ราย แบ่งเป็น การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 17,788 ราย (สัดส่วน 71.58%) ตัวแทนออกของ 3,571 ราย (สัดส่วน 14.37%) การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า 1,116 ราย (สัดส่วน 4.49%) คลังสินค้า 776 ราย (สัดส่วน 3.12%) การขนส่งทางน้ำ 655 ราย (สัดส่วน 2.64%) การขนถ่ายสินค้า 640 ราย (สัดส่วน 2.58%) การขนส่งทางอากาศ 186 ราย (สัดส่วน 0.75%) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและอื่น ๆ 120 ราย (สัดส่วน 0.47%)
 

โลจิสติกส์ไทย-เทศแข่งเดือด!! 5,000 บริษัท รุมแย่งเค้ก "อีอีซี"