ผวา! "ตู้น้ำหยอดเหรียญ" ด้อยคุณภาพ จี้รัฐเร่งแก้

05 เม.ย. 2562 | 10:42 น.


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไล่บี้สินค้าและบริการที่ไม่ได้คุณภาพ-ผิดกฎหมาย ล่าสุด เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขัน "ตู้นํ้าหยอดเหรียญ" หลังพบไม่มีใบอนุญาตกว่า 90% อยู่ในสถานที่ตั้งไม่เหมาะสม รวมทั้งสินค้าสุขภาพบนสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขณะที่ ความคืบหน้าตั้ง "สภาองค์กรของผู้บริโภค" คาดแล้วเสร็จกลางปีนี้

จากการศึกษาวิจัยโดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร สุ่มสำรวจ "ตู้นํ้าดื่มหยอดเหรียญ" ทำเลในพื้นที่ กทม. 18 เขต พบว่า 1.ผู้ประกอบกิจการตู้นํ้าดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย ไม่มีใบอนุญาตกว่า 91%, 2.สถานที่ตั้งตู้นํ้าดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ริมถนน ริมทางเท้า 76.3% ใกล้แหล่งระบายนํ้าเสีย/นํ้าขัง 28.3% และใกล้ที่ทิ้งขยะ ทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน 22% ล่าสุด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมมือกับ มพบ. และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สุ่มตรวจบ้างแล้ว และพบว่า มีหลายพื้นที่ที่ยังมีตู้นํ้าดื่มที่ไม่ได้รับอนุญาต

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้ทำงานร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขต อาทิ เขตบางบอน ฯลฯ เพื่อประชุมหารือแนวทางการศึกษาการแก้ไขปัญหาตู้นํ้าดื่มแบบหยอดเหรียญในพื้นที่สำนักงานเขตบางบอน เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นโมเดล หรือ "บางบอนโมเดล" และจากการเฝ้าระวังปัญหาตู้นํ้าดื่มหยอดเหรียญในเขตพื้นที่บางบอนที่ผ่านมา พบว่า ตู้นํ้าดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 59 ตู้ ยังไม่มีการดำเนินการขออนุญาต

 

ผวา! "ตู้น้ำหยอดเหรียญ" ด้อยคุณภาพ จี้รัฐเร่งแก้

 

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจใหม่ในโซนศรีนครินทร์ 6 เขต พบว่า ตู้นํ้าดื่มยังมีการให้บริการ มีการไปยื่นเอกสารขออนุญาตเพียงบางราย เจ้าหน้าที่รับเอกสารไว้ตรวจสอบ แต่ยังติดเรื่องค่าธรรมเนียมเหมือนเดิม เลยยังไม่มีผู้ประกอบการขออนุญาตเพิ่มเติม รวมทั้งพบว่า ตู้นํ้าดื่มในโซนศรีนครินทร์มีตู้น้ำดื่มกว่า 90% ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ พร้อมทั้งบางตู้มีป้ายสติกเกอร์ห้ามให้บริการติดอยู่
 


อีกประเด็นที่ มพบ. ติดตาม คือ เรื่องของการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ พบมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยประกาศว่า เป็นผลิตภัณฑ์อันตรายและได้เพิกถอนเลขสารบบ จำนวน 29 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างเลข อย. ปลอม ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แสดงที่ตั้งผู้ผลิต ยังวางจำหน่ายในสื่อสังคมออนไลน์และร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ และพบว่า ดารา เน็ตไอดอล มีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง

อีกทั้งยังพบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดถึง 753 ชิ้น โดยพบในเฟซบุ๊ก 240 ชิ้น อินสตาแกรม 348 ชิ้น ไลน์ 80 ชิ้น และร้านค้าออนไลน์ 85 ชิ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างเหล่านี้มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นเพียงการจดแจ้งกับ อย. แต่มักจะนำไปโฆษณา ว่า ผ่านมาตรฐาน อย. แล้ว รวมถึงมีบางผลิตภัณฑ์ที่ใส่เลข อย. ไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา

 

ผวา! "ตู้น้ำหยอดเหรียญ" ด้อยคุณภาพ จี้รัฐเร่งแก้

 

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ขณะนี้ ได้รับการรับรองจากองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร และอยู่ในกระบวนการประกาศราชกิจจานุเบกษา และหากกระบวนดังกล่าวเสร็จสิ้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจะสามารถจัดตั้งได้เป็นทางการประมาณในเดือน พ.ค. - มิ.ย. นี้ ทั้งนี้ สิ่งที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและ สคบ. ต้องดำเนินการก่อนกฎหมายจะใช้บังคับ มี 2 ส่วน คือ 1.จัดทำแบบการจัดตั้งสภาองค์กรฯ เช่น วิธีการจดแจ้ง แบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูล เอกสาร รวมถึงประกาศต่าง ๆ เพราะถ้าไม่มีแบบการจัดตั้ง ก็จะไม่สามารถเริ่มขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคได้

2.ดำเนินการเรื่องเงินอุดหนุน เพราะหลังจากมีการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคและรวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรแล้ว จะมีการให้เงินอุดหนุนไปยังสภาองค์กร ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 2 ส่วนนั้น จะมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะของแต่ละเรื่อง และจะเชิญภาคประชาชนเข้าประชุมด้วย

"ความท้าทายของการเกิดสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ เรื่องความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน และยอมรับความหลากหลาย เพราะถ้าแต่ละองค์กรแบ่งกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ และไม่มีกลุ่มใดที่มีสมาชิกเกินครึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภคที่จดทะเบียนทั้งหมด ก็ไม่มีทางที่สภาองค์กรจะเกิดขึ้น"


หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3458 ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2562
 

ผวา! "ตู้น้ำหยอดเหรียญ" ด้อยคุณภาพ จี้รัฐเร่งแก้