"ธุรกิจการบิน" ปีกหัก! ปี 61 ขาดทุน 1.44 หมื่นล้าน

03 มี.ค. 2562 | 08:08 น.

"ธุรกิจการบิน" ปีกหัก! ปี 61 ขาดทุน 1.44 หมื่นล้าน

การดำเนินธุรกิจด้านการบินของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สิ้นสุดในปี 2561 นับว่าเป็นปีสาหัสมาก 
สะท้อนจากผลประกอบการของ 4 สายการบินของไทย ที่ครองส่วนแบ่งในธุรกิจนี้กว่า 85% ที่พบว่า ขาดทุนเพิ่มขึ้นร่วม 1 หมื่นล้านบาท จากขาดทุน 3.96 พันล้านบาท ในปี 2560 เพิ่มมาเป็นขาดทุน 1.44 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 จากการขาดทุนของการบินไทยและนกแอร์

ขณะที่ สายการบินอย่าง "บางกอกแอร์เวย์ส" และ "ไทยแอร์เอเชีย" ในปี 2561 แม้จะยังมีกำไรอยู่เหมือนเดิม แต่เมื่อรวมกันก็จะเห็นว่า กำไรหดหายไปจากปีก่อนหน้าร่วม 1.94 พันล้านบาท จากการแข่งขันที่รุนแรงและค่าใช้จ่ายราคานํ้ามันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต โดยการบินไทยมีผลการขาดทุนสูงสุดมากถึง 1.16 หมื่นล้านบาท


"ธุรกิจการบิน" ปีกหัก! ปี 61 ขาดทุน 1.44 หมื่นล้าน

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงทางบัญชีใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ จากเดิม 10% เป็น 6% ของมูลค่าต้นทุนเริ่มแรก ทำให้ค่าเสื่อมราคาของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 3,129 ล้านบาท และ 2) การทบทวนระยะเวลาการรับรู้บัตรโดยสารที่จำหน่ายแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้บริการ จากเดิมรับรู้เป็นรายได้เมื่อบัตรโดยสารมีอายุเกินกว่า 24 เดือน เป็น 15 เดือน นับจากวันที่ออกบัตรโดยสาร ทำให้รายได้ค่าโดยสารสำหรับปี 2561 เพิ่มขึ้น 1,028 ล้านบาท

'บินไทย' แจงยิบ! อ่วม 1.16 หมื่นล้าน เจอพิษน้ำมันพุ่งหมื่นล้าน ทำต้นทุนเพิ่ม

การเปลี่ยนแปลงทางบัญชีที่เกิดขึ้น แม้จะทำให้ในปี 2561 การบินไทยขาดทุน
เพิ่มขึ้น แต่จะทำให้การบินไทยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในปีนี้ การเปลี่ยนแปลงทางบัญชีประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ใหม่ จะทำให้การทำด้อยค่าเครื่องบินลดลง ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารจัดการที่ทำให้ถ้าการบินไทยปลดระวางเครื่องบินก็จะไม่กระทบรุนแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา


"ธุรกิจการบิน" ปีกหัก! ปี 61 ขาดทุน 1.44 หมื่นล้าน

อีกทั้ง "การบินไทย" ยังอยู่ระหว่างการลดผลกระทบทางการเงิน ในเรื่องของ
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงเรื่องของราคานํ้ามัน ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้จากการขาย โดยมีแผนจะเช่าเครื่องบินระยะสั้นมาให้บริการเพิ่มเติม การเพิ่มรายได้จากบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น ครัวการบิน การทำเรื่องของอี-คอมเมิร์ซ ระหว่างรอรายได้จากการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) สนามบินอู่ตะเภา ที่ต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี และการทำเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ จะทำให้การจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ไม่เป็นภาระ

รวมถึงการบินไทยเตรียมขออนุมัติผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย. 2562 ที่จะอนุมัติตัดภาระขาดทุนสะสม ซึ่งจะไม่กระทบมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้น โดยใช้สำรองตามกฎหมาย ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561 การบินไทยมีขาดทุนสะสมอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ขาดทุนสะสมเหลือ 296 ล้านบาท ถ้าบริษัทไม่มีขาดทุนสะสมก้อนใหญ่ การจ่ายปันผลก็จะมีโอกาสมากขึ้น


ในส่วนของการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ หลังจากมีการเพิ่มทุนรอบล่าสุด ได้รับเงินกว่า 2.3 พันล้านบาท ก็ทำให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก อยู่ที่ราว 832.86 ล้านบาท และระหว่างที่รอการทำดิวดิลิเจนซ์ซื้อหุ้นของ บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (AAV) กว่า 60% ของกลุ่มจุฬางกูร นกแอร์ยังมีแนวทางที่จะรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้ติดลบต่อไป โดยเน้นขยายเส้นทางและเครือข่ายการบินและการปรับปรุงฝูงบินเพื่อเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน

AAV แจ้งตลาดรับกำลังดีล ซื้อหุ้น NOK จาก 'จุฬางกูร'

ส่วนบางกอกแอร์เวย์ส กำไรที่เกิดขึ้น เพราะโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเท่านั้น แต่ยังมีการเติบโตของรายได้ที่ไม่ได้แบ่งตามสายธุรกิจ เป็นผลมาจากเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากเงินลงทุนใน บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินที่มีการเติบโตต่อเนื่อง


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,449 วันที่ 3-6 มี.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ทีเส็บ" จับมือ "การบินไทย" เปิดโปรโมชั่นดันยอดไมซ์อาเซียน
ทางออกนอกตำรา : สายการบินลูกครึ่ง ยึดเบ็ดเสร็จโลว์คอสต์ไทย

เพิ่มเพื่อน