อยู่บนภู : พ.ร.บ.ข้าว พิสูจน์! สนช.ฝักถั่ว

15 ก.พ. 2562 | 13:51 น.
ฝัก-01 201610281944054-20041019171656-copy-503x377 ช่วงปลายสมัยรัฐบาลนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มไปด้วยเรื่องราวที่แปลกประหลาดเยอะมาก บางเรื่องแปลกประหลาดจนน่ากังวล โดยเฉพาะการเสนอกฎหมายของสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ดูเหมือนเร่งรัดรีบร้อนจนน่าวิตก

ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายที่จะออกมามีผลบังคับใช้กับคนทั่วไป ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย กระบวนการออกกฎหมายจึงต้องรัดกุม รอบคอบ ยุติธรรม ถ่วงดุลสังคม ให้เกิดความสงบเรียบร้อยไม่เอียงข้างเลเพลาดพาดไปทางใดทางหนึ่ง

เหมือนกับ พ.ร.บ.ข้าวก็เหมือนกัน กฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กับคณะให้กับสนช.ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61

เจตนาของผู้ร่างต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ มีการบริหารจัดการข้าวแบบครบวงจร พัฒนาตั้งแต่ให้ความรู้ ส่งเสริมอาชีพ และไปดูถึงพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้หากแบ่งการทำนา จะแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 4 เดือน รวม 8 เดือน มีเวลาว่างเว้นการทำนา 4 เดือน ร่างฯฉบับนี้จะมีการส่งเสริม ในช่วงช่องว่างนี้ว่า ชาวนาอยากจะทำอะไร ตามความต้องการไม่บังคับ แต่จะมีการส่งเสริม เช่น หาแหล่งทุน วัสดุต่างๆ หรือว่าภาคประมง จะเลี้ยงปู เลี้ยงปลา จะมีหน่วยงานเข้าไปดูแลเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเจตนาฟังดูดี

ภายหลังเขียนไปเขียนมาระยะหนึ่ง เสมือนขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่แต่เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชาซะอย่างนั้น เมื่อกฎหมายเอื้อมไปกดขี่กระทบสิทธิชาวนาเสียเองในบางมาตรา กรณีกำหนดให้พันธุ์ข้าวต้องได้รับการตรวจสอบจากกรมการข้าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะจำหน่ายได้ และการจะจำหน่ายได้ต้องเป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรองเท่านั้น

[caption id="attachment_389857" align="aligncenter" width="500"] อยู่บนภู : พ.ร.บ.ข้าว พิสูจน์! สนช.ฝักถั่ว เพิ่มเพื่อน [/caption]

หลักนี้หลักเดียวสะเทือนไปทั่วท้องทุ่ง ประหนึ่งคนร่างไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตชาวนาเลย ว่าพวกเขาได้พัฒนาพันธุ์ แลกเปลี่ยนพันธุ์ ซื้อขายข้ามทุ่งข้ามถิ่นกันมาเป็นร้อยปี ถ้ากฎหมายนี้ผ่านไปก็จะไปจำกัดสิทธิในการพัฒนาพันธุ์และการค้าขายพันธุ์ของพวกเขาทันที พวกเขาอาจต้องถูกปรับและติดคุก

โดยรวมแล้วในหมวดนี้กฎหมายให้คณะกรรมการข้าว มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนและการพักใช้หรือเพิกถอนการจดทะเบียนพันธุ์ข้าว การควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการผลิต พัฒนา และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในกฎหมายพ.ร.บ.พันธุ์พืชอยู่แล้ว

ถัดมากฎหมายยังเขียนไปถึงการลักลอบนำข้าว ข้าวเปลือกให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ยึดและทำลายข้าวดังกล่าว ซึ่งซํ้าซ้อนกับกฎหมายศุลกากรและกฎหมายการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ร่างกฎหมายยังกำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือก ทั้งโรงสี ผู้รวบ รวมข้าว (หยง) ต้องออกใบรับซื้อข้าวและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด และต้องเก็บหลักฐานไว้เป็นเวลา 5 ปี เข้าใจว่าโดยเจตนาต้องการให้ทราบที่มาที่ไปของข้าวทุกเมล็ด แต่ไม่ทราบจุดหมายปลายทางของข้าวเมื่อต้องไปกองรวมกัน ไม่สามารถแยกได้ว่ามาจากที่นาแปลงใดของใคร

BB4A9988

การกำหนดลงไปเช่นนี้จึงเป็นการเพิ่มภาระผู้ซื้อข้าวเปลือกสูงขึ้น ต้องทำรายงาน ทำบัญชี เมื่อภาระเพิ่มขึ้น โรงสี หยงก็ต้องผลักภาระไปที่ชาวนาด้วยการกดราคาซื้อเพื่อชดเชยต้นทุนส่วนนี้ สุดท้ายปลายทางชาวนาก็ยังถูกกดราคาอยู่ดี ลดความเหลื่อมลํ้าไม่ได้อยู่ดี ขัดกับเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายหรือไม่

มีเพียงประเด็นเดียวที่พอเป็นข้อดีของกฎหมายฉบับนี้อยู่บ้าง เห็นจะเป็นการให้ผู้แทนชาวนาเข้าไปนั่งในคณะกรรมการข้าว หรือคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในยุคนี้ คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในอดีตที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีผู้แทนชาวนาได้มีโอกาสเข้าไปนั่งในคณะกรรมการนี้ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในการดูแลข้าวทั้งวงจร

มือของสนช.ถูกปรามาสมานานแทบทุกยุคทุกสมัย ว่าเป็นฝักถั่วมาจากการแต่งตั้ง ร่างอะไรมา เขียนอะไรขึ้นก็แล้วแต่ มักจะผ่านๆ โดยง่ายดาย

เที่ยวนี้ทั้ง สนช. ทั้งสภาและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตัวเอง อย่าปล่อยให้ร่างพ.ร.บ.ข้าวที่กำลังเข้าสู่วาระ 2-3 ในสัปดาห์หน้าผ่านออกมาบังคับใช้

พวกเขาชาวนาเจ็บปวดมามากแล้วกับโครงการจำนำอื้อฉาวฉ้อฉลจากหยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขา

ลุงตู่อย่าสร้างตราบาปและทุกข์ซํ้าให้กับชาวนาอีกเลย!!!

|คอลัมน์ : อยู่บนภู
|โดย : กระบี่เดียวดาย
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3445 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-20 ก.พ.2562
595959859