"บอร์ดอีอีซี" เผยความต้องการแรงงานในอีก 12 ปีข้างหน้า เกือบ 1 ล้านคน

15 ก.พ. 2562 | 09:02 น.
"บอร์ดอีอีซี" เผย ความต้องการแรงงานในอีก 12 ปีข้างหน้า เกือบ 1 ล้านคน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ก.พ. 62) ที่ประชุมบอร์ดอีอีซีพิจารณาการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับในพื้นที่อีอีซี หากมีการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ประเมินแรงงานคร่าว ๆ ในอีก 12 ปีข้างหน้า (ปี 2562-2573) จะมีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มงานดิจิตอล 2.8 แสนคน, การแพทย์ 9 หมื่นคน, ยานยนต์ 5 หมื่นคน, อิเล็กทรอนิกส์ 5 หมื่นคน, อุตสาหกรรมอาหาร 5 หมื่นคน และอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากความต้องการบุคลากรในช่วง 12 ปีข้างหน้า นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมฯ ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามกรณีดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการอีอีซี เพื่อเข้าเป็นคณะทำงานติดตาม โดยจะมีการเสนอตัวเลขในที่ประชุมบอร์ดอีอีซีครั้งหน้าในเดือน มี.ค. นี้

 

[caption id="attachment_389821" align="aligncenter" width="488"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

"การพัฒนาบุคลากรนั้น ที่ประชุมฯ ครั้งก่อนได้รับทราบแผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการใช้พื้นที่ และได้สั่งการให้ติดตามความก้าวหน้าของแผนการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม และขอทราบความก้าวหน้าของการกระทรวงหลักร่วมบูรณาการพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับการศึกษาสู่ 4.0 ซึ่งในปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำงานร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่อีอีซี ล่าสุด ทิศทางใหม่เป็นการร่วมมือและแบ่งงานกันทำของกระทรวงสำคัญในการพัฒนาคน โดยยึดถือความต้องการของเอกชนเป็นสำคัญ และเพื่อให้บุคลากรทุกกลุ่มมีงานทำและมีรายได้สูงถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดผลกับประชาชนได้จริง" นายคณิศ กล่าว

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ดูแลนักเรียน นักศึกษา ในระบบให้เป็นบุคลากร 4.0 ที่มีความรู้ทำงานได้จริง มีรายได้ดี ด้วยทักษะภาษา เทคโนโลยี ความรู้อุตสาหกรรมใหม่ และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม อาทิ การปรับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาสู่ "อาชีวะพรีเมียม" โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศ (จีน ญี่ปุ่น และเยอรมัน) ให้ได้รับทวิวุฒิ (Dual Degree) คือ วุฒิการศึกษาจากประเทศไทยและวิทยาลัย ที่จับคู่ความร่วมมือ ขณะนี้เปิดหลักสูตรนำร่อง 6 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง ระบบเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาช่างอากาศยาน สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม สาขาโลจิสติกส์ และสาขาเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)

ติดตามฐาน