'แอร์บัส' ยุติสายการผลิต A380 ปิดฉากเครื่องบินพาณิชย์ลำใหญ่ที่สุดในโลก

14 ก.พ. 2562 | 11:59 น.
14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักปี 2562 กลับเป็นวันที่ บริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรป ต้องบอก "เลิก" หรือ ยุติสายการผลิตเครื่องบินโดยสารซูเปอร์จัมโบ้ รุ่น A380 ที่ได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากเปิดตัวและนำมาให้บริการผู้โดยสารเป็นเวลา 12 ปี ยอดขายเครื่องบินรุ่นดังกล่าวซบเซามานานหลายปี นับเป็นการปิดฉากความฝันของแอร์บัสที่ต้องการครอบครองน่านฟ้าด้วยอากาศยานแห่งศตวรรษที่ 21

เครื่องบินโดยสารรุ่น A380 มีห้องโดยสาร 2 ชั้น รองรับผู้โดยสารได้จำนวนมากถึง 544 คน เครื่องบินรุ่นนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับเครื่องบินโดยสารในตำนานของ บริษัท โบอิ้ง รุ่น 747 แม้ A380 จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้โดยสาร แต่กลับต้องประสบกับความล้มเหลว เนื่องจากในปัจจุบัน สายการบินทั่วโลกนิยมเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็ก คล่องตัวกว่า และประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า


a380

แถลงการณ์ของแอร์บัสระบุว่า บริษัทจะยุติการผลิตเครื่องบินรุ่น A380 ในปี 2564 หลังจากที่บริษัทได้ส่งมอบเครื่องบินล็อตสุดท้ายให้แก่ "สายการบินเอมิเรตส์" ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของเครื่องบินรุ่นนี้ รวมทั้งสายการบินอื่น ๆ อีก 2-3 ราย แอร์บัสเผยว่า เอมิเรตส์ตัดสินใจลดยอดสั่งซื้อเครื่องบิน A380 ลงจากเดิม 53 ลำ เหลือเพียง 14 ลำ ขณะเดียวกัน สายการบินเอมิเรตส์เองได้ออกแถลงการณ์ ว่า จะหันไปซื้อเครื่องบินโดยสารลำเล็กกว่าของแอร์บัส คือ รุ่น A330นีโอ และ A350 ลำตัวกว้าง จำนวนรวม 70 ลำ ในราคา 21,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เป็นราคาก่อนการลดพิเศษให้ลูกค้า) ทั้งนี้ แอร์บัสเตรียมเจรจากับสหภาพแรงงานภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเกี่ยวกับตำแหน่งงานกว่า 3,000-3,500 ตำแหน่ง ที่จะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการผลิตเครื่องบิน A380 ในครั้งนี้

เครื่องบิน A380 นั้น เป็นมากกว่าเครื่องบินลำใหญ่มหึมา แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลยุโรปที่มุ่งหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมภายในภูมิภาคให้แข็งแกร่ง แอร์บัสต้องการเครื่องบินที่จะมาเป็นคู่แข่งขันที่สมน้ำสมเนื้อกันกับเครื่องบินของ บริษัท โบอิ้ง ทั้งในแง่ของความใหญ่โตโอ่อ่าและความหรูหรา ทั้งในน่านฟ้าและสนามบินที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ


Airbus-A380



➣ ปัญหาที่สะสมมานาน

ปัญหาของ A380 ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงพาณิชย์นั้น เกิดขึ้นมาเนิ่นนานหลายปี ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเลยก็ว่าได้ กว่าจะนำ A380 ขึ้นทดลองบินครั้งแรกได้นั้น ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก และเนิ่นช้าไปกว่ากำหนดเดิมมาก เนื่องจากความซับซ้อนยุ่งยากในการเดินสายไฟภายในตัวเครื่อง อันเป็นผลมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างทีมงานฝ่ายออกแบบ และหลังจากที่เครื่องรุ่นนี้ทะยานขึ้นฟ้าเที่ยวบินแรกในเชิงพาณิชย์ ในช่วงปลายปี 2550 ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่วิกฤตการเงินที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกได้ก่อตัวขึ้นและมีผลทำให้การสัญจรทางอากาศชะลอตัวลงในเวลาต่อมา

บริษัทสายการบินที่เป็นลูกค้าเริ่มไคร่ครวญแผนจัดซื้อว่า เครื่องบินลำใหญ่มหึมาใช่สิ่งที่สมควรกับสถานการณ์ที่ต้องรัดเข็มขัดในช่วงเวลานั้นแล้วหรือไม่ ส่งผลให้มีการยกเลิกค่ำสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ คู่แข่งอย่างโบอิ้งครองตลาดเครื่องบินโดยสารแบบลำใหญ่ด้วยเครื่องบินตระกูล 747 มายาวนาน เดือน ก.พ. นี้ เครื่องบินจัมโบ้ 747 ฉลองครบรอบ 50 ปี พร้อมด้วยยอดขายที่พุ่งไปกว่า 1,500 ลำแล้ว ถึงแม้แอร์บัสจะเป็นเจ้าตลาดเครื่องบินโดยสารแบบลำตัวแคบ ด้วยเครื่องบินตระกูล A320 แต่ถ้าพูดถึงตลาดเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ หรูหรา ที่บินระยะทางไกล ก็ยังต้องยอมรับว่า 'โบอิ้ง' คู่แข่งจากสหรัฐอเมริกานั้น เป็นผู้ครองตลาดอยู่

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และศูนย์กลางการเดินทางทางอากาศที่เกิดขึ้นใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ มหานครดูไบ ทำให้พื้นที่การแข่งขันสำหรับเครื่องบินลำใหญ่ของแอร์บัสเปิดกว้างมากขึ้นเช่นกัน และจะว่าไป ดูไบก็เป็นตลาดที่ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้เครื่องบิน A380 ได้มาก เช่น สายการบินเอมิเรตส์ที่สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้จำนวนรวมกว่า 160 ลำ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ที่มีออร์เดอร์ล็อตใหญ่ขนาดนั้นสำหรับสินค้าสำคัญของบริษัท ก็เป็นดาบสองคม เพราะเมื่อเอมิเรตส์ปรับแผนการซื้อ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งซื้อเพิ่มหรือยกเลิก ล้วนมีผลต่อสายการผลิต A380 ทั้งกระบวน เช่น เมื่อเอมิเรตส์ลดจำนวนเครื่องบินที่สั่งซื้อ บริษัทก็จำเป็นต้องลดขนาดการผลิตตามไปด้วย เพราะไม่มีออร์เดอร์ที่มากพอจากลูกค้ารายอื่น ๆ และเมื่อยอดสินค้าค้างส่งไม่มีเหลือแล้ว ก็แทบไม่มีความจำเป็นต้องคงสายการผลิตเอาไว้อีกต่อไป


jpeg

ยิ่งเมื่อปัจจุบัน กระแสความนิยมหันเหไปสู่เครื่องบินโดยสารรุ่นที่มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา และลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง เช่น เครื่องบินรุ่น A350 ของแอร์บัส และรุ่น 777 และ 787 ดรีมไลเนอร์ของโบอิ้ง ก็ยิ่งทำให้เครื่องบินรุ่นลำใหญ่มหึมาตกอยู่ในภาวะลำบาก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะพบว่า เครื่องบินขนาดใหญ่เหล่านี้ ราคาแพงกว่า น้ำหนักมากกว่า และบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ ได้ยากกว่า ตลาดสำหรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่จึงไม่ได้สดใสอย่างที่บริษัทคาดคิดไว้แต่แรก ซึ่งสำหรับกรณีของ A380 จะเห็นได้ว่า ไม่มีสายการบินสัญชาติอเมริกันรายไหนเลยที่สั่งซื้อ ส่วนสายการบินของจีนก็ซื้อในจำนวนน้อย สายการบินญี่ปุ่นที่นิยมเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่อย่างโบอิ้ง 747 ก็เพิ่งจะซื้อและได้รับส่งมอบ A380 ลำแรก การบินไทยมี A380-800 ร่วมฝูงบินอยู่ 6 ลำ ขณะที่ แควนตัสของออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งยกเลิกการซื้อ A380 ส่วนที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และสายการบินแอร์ฟรานซ์ก็ลดยอดซื้อลงด้วยเช่นกัน

ส่วนหนึ่งของปัญหาสำหรับ A380 คือ เครื่องบินรุ่นนี้ไม่มีตลาดเครื่องบินมือสอง (Second-Hand Market) รองรับ ซึ่งตลาดส่วนนี้เป็นที่ที่ลูกค้าจำนวนมากนิยมเข้าไปซื้อหาเครื่องบินในราคาถูกลง เมื่อครั้งที่สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ ส่งคืนเครื่องบิน A380 ใช้แล้วคืนให้กับบริษัทที่ให้เช่า ก็ต้องพบว่า ปลายทางของนกยักษ์เหล่านี้ไม่ใช่ตลาดเครื่องบินมือสอง แต่เป็นโรงงานแยกชิ้นส่วนเครื่องบินในฝรั่งเศส

 

[caption id="attachment_389311" align="aligncenter" width="503"] Emirates-A380-first-class เคาน์เตอร์เครื่องดื่มของชั้นเฟิร์สคลาส สายการบินเอมิเรตส์ บนเครื่อง A380[/caption]

นอกจากนี้ หากจะกล่าวว่า จังหวะเวลาก็ไม่เข้าข้างแอร์บัสในเรื่องนี้ ก็อาจจะมีส่วน เพราะที่คาดกันว่า ความแออัดของสนามบินหลัก ๆ อย่างฮีทโธรว์ในลอนดอน จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สายการบินหันมาใช้เครื่องบินลำใหญ่ ๆ อย่าง A380 แต่เอาเข้าจริง ปัญหาการแออัดของท่าอากาศยานในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้สายการบินหันมาใช้เครื่องบินขนาดใหญ่กันมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น บางรายที่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังไม่สามารถใช้ศักยภาพการบรรทุกผู้โดยสารอย่างเต็มที่ เช่น กรณีของ A380 นั้น จุผู้โดยสารได้มากกว่า 800 คน แต่สายการบินส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะรับผู้โดยสารเต็มที่ราว 500 คน แล้วนำพื้นที่ส่วนที่เหลือไปตกแต่งทำส่วนบริการที่หรูหรา เช่น ห้องอาบน้ำบนเครื่อง หรือ ส่วนโดยสารแบบห้องสวีทส่วนตัวที่มีหลาย ๆ ห้อง พร้อมเคาน์เตอร์บาร์ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นบริการที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้โดยสารรายได้สูงที่ต้องการประสบการณ์การเดินทางแปลกใหม่ เป็นส่วนตัว โอ่อ่า และมีสไตล์

แต่ความชื่นชมของผู้โดยสารก็ไม่ได้มีผลต่อชะตากรรมของ A380 มากเท่ากับความสนับสนุนจากสายการบินที่เป็นผู้วางออร์เดอร์สั่งซื้อ สุดท้ายแล้ว A380 ที่เคยเป็นความหวังของอากาศยานแห่งอนาคต ก็มีจุดจบไม่ต่างกับเครื่องบินคองคอร์ด เพราะเมื่อบอร์ดบริหารคิดทบทวนตัวเลขยอดขายและต้นทุนต่าง ๆ แล้ว ผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นการยุติสายการผลิต ปิดฉากตำนานนกยักษ์สุดหรูลำใหญ่ที่สุดในโลกในอีกสองปีข้างหน้า

595959859

090861-1927-9-335x503-8-335x503-13-335x503