ครม. เคาะหั่นงบปี 63 สปสช. เป็น 1.91 แสนล้าน เหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาท

12 ก.พ. 2562 | 07:52 น.
วันที่ 12 ก.พ. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2563 วงเงิน 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 1.81 แสนล้านบาท หรือเพิ่ม 6,500 ล้านบาท เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวเป็น 3,600 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 173 บาท และงบที่เพิ่มขึ้น

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า งบที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเข้าตรวจการคัดกรองยีนส์ ก่อนเริ่มยา และป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับคนอายุ 50-70 ปี ให้สะดวกมากขึ้น เพิ่มบริการแบบวันเดียวแล้วกลับบ้านได้ทันทีอีก 12 รายการ เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องที่ทันสมัยเพื่อให้กลับบ้านได้เร็วขึ้น เพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ยารักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ และโรคที่เกิดขึ้นจากการทำลายเส้นประสาท และเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้กับผู้ป่วยเบาหวานเด็ก เพิ่มวัคซีนป้องกันท้องร่วงในเด็ก ขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ

นอกจากนี้ ยังปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่ การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกกลุ่มอายุ โดยในปี 2563 จะให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่ การให้เข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากยิ่งขึ้น

"เป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการปรับปรุงงบประมาณเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนและมีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลอย่างใกล้ชิดและรวบรวมข้อมูลที่ทันสมัย โดยงบที่อนุมัติไปเป็นงบประมาณที่เหมาะสม เพียงพอต่อการบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ" พล.ท.วีรชน กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในงบประมาณจำนวน 1.91 ล้าน ประกอบด้วย รายละเอียด 1.งบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 1.74 แสนล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากร และค่าบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น หรือ พื้นที่สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 48.26 ล้านคน คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นจำนวน 173 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ์

2.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,596 ล้านบาท 3.งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,405 ล้านบาท 4.งบบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรคเรื้อรัง จำนวน 1,037 ล้านบาท 5.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490 ล้านบาท 6.งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน จำนวน 1,025 ล้านบาท 7.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 268 ล้านบาท

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ โดยเฉพาะในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวจะนำมาสู่การพัฒนาระบบ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสิทธิประโยชน์ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาผู้ป่วยนอก การรักษาผู้ป่วยใน ซึ่งในปีนี้ได้มีสิทธิประโยชน์ที่ผ่านการพิจารณาและเตรียมเดินหน้าในปีงบประมาณ 2563 ได้แก่ การตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปี ให้เกิดความสะดวกมากขึ้น, เพิ่มบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับอีก 12 รายการ เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อให้กลับบ้านได้เร็วขึ้น, การเพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ โรคที่เกิดจากการทำลายเส้นประสาทและเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา, เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานเด็ก, เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก และขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ

นอกจากนี้ ยังปรับระบบการจัดการให้ประชาชนมีแพทย์ประจำครอบครัวใหม่, การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงทุกลุ่มอายุ โดยปี 2563 ให้ครอบคลุมถึงผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมจากความร่วมมือหน่วยบริการในพื้นที่และ อปท. การเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

"ในปีงบประมาณ 2563 นี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำร่องการจัดบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น อาทิ นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และนำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี"

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว