"ทาทา สตีล ไทย" ในอุ้งมือทุนจีน ... กินรวบธุรกิจเหล็ก!

30 ม.ค. 2562 | 04:37 น.
| รายงานพิเศษ เรื่อง "ทาทา สตีล ไทย" ในอุ้งมือทุนจีน ... กินรวบธุรกิจเหล็ก!

……………….


... เป็นไปตามคาด! เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก อย่าง Hebsteel Global Holding Pte.Ltd. หรือ กลุ่ม Hebei Steel ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน และเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก ประกาศซื้อกิจการของ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) หลังจากที่ TSTH แจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา T S Global Holdings Pte. Ltd. (TSGH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TSTH ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Hebsteel Global Holding Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมด โดย HBIS Group Co.,Ltd. (HBIS) ขายหุ้นที่ TSGH ถืออยู่จำนวน 5.72 พันล้านหุ้น คิดเป็น 67.9% ให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นใหม่ในประเทศสิงคโปร์โดยนิติบุคคล ซึ่ง HBIS และ TSGH มีอำนาจควบคุมในสัดส่วน 70:30 โดยหุ้นที่จำหน่ายคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.52 พันล้านบาท หรือ 0.79 บาทต่อหุ้น

ธุรกรรมการขายหุ้นดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนนับจากนี้ไป!




10 ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก

➣ ทุนจีนปิดประตูตีแมว

การถอยฉากธุรกิจเหล็กของ TSTH ในประเทศไทย เดินมาถึงจุดที่ต้องถอยจริง ๆ แล้ว นับตั้งแต่ช่วงรับไม้ต่อหลังการเปลี่ยนมือจากกลุ่มทุนเก่า 2 กลุ่มใหญ่ ที่เผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง และที่หนักสุดสินค้าที่ผลิต ไม่ว่าจะเป็น เหล็กลวด เหล็กพิเศษโครงสร้างรูปพรรณ ล้วนเจอปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น การเข้ามาเดินสายทุ่มตลาดเหล็กในประเทศไทยและในตลาดอาเซียนของบรรดาผู้เล่นในธุรกิจเหล็กต่างชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนเข้ามาปิดประตูตีแมวทุกทาง สกัดทั้งตลาดในประเทศไทยและตลาดในอาเซียน ด้วยการส่งเหล็กราคาถูกมาตีตลาด มีรัฐบาลจีนหนุนหลัง สนับสนุนภาษีส่งออกในอัตราแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของเหล็ก


ทา ทา12345

ส่วนเหล็กเส้นที่ TSTH ผลิตด้วยวิธีการหลอมด้วยเตาชนิดอาร์กไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) หรือ EAF ซึ่งรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าระบบ IF แต่ก็มีต้นทุนที่สูงกว่า ตกอยู่ในสภาพแข่งขันยากขึ้น ในขณะที่ รัฐบาลเปิดช่องอ้าแขนรับให้กลุ่มทุนจีนเดินสายมาตั้งโรงงานหลอมเศษเหล็กแบบ Induction Furnace หรือ IF เครื่องจักรที่ถูกโละทิ้งมาจากจีน เพราะสร้างปัญหามลพิษภายในประเทศจีน ย้ายฐานมาผลิตในไทยแทน และขายในราคาที่ถูกกว่าผู้ผลิตเหล็กเส้นแบบ EAF

ขณะที่ การดูแลในอุตสาหกรรมเหล็กของรัฐบาลไทย หากให้คะแนนความสนใจในอุตสาหกรรมนี้ คะแนนเต็ม 100 คงได้ไม่ถึงครึ่ง เพราะลำพังแค่ลงไปเดินมาตรการปกป้องในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ ก็ขยับตัวได้ล่าช้า ไม่ทันใจ ไม่ทันการณ์


➣ ประเทศอื่นงัดยาแรงป้องเหล็ก

เปรียบเทียบกับการรับมือของหลายประเทศที่ล้วนออกมาใช้มาตรการ "ยาแรง" ในการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศของตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอเมริกา กำหนดเพดานภาษีปกป้องสูงลิบ ประกาศอัตราการอุดหนุนเบื้องต้นสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบจากจีนตั้งแต่ 26.26-235.66% นอกจากนั้นก็จะเป็นการตื่นตัวของอินเดีย ที่ใช้มาตรการเซฟการ์ดกับเหล็กแผ่นรีดร้อนในอัตรา 20% ทันที อินโดนีเซียขึ้นภาษีนำเข้า 15%, 17.5% และ 20% ในผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่าง ๆ

สำหรับไทยเดินมาตรการเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนกับ 14 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย คาซัคสถาน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ยูเครน แอลจีเรีย อินโดนีเซีย สโลวัก โรมาเนีย ในอัตราภาษีเอดี ตั้งแต่ 0-128.11% ขึ้นอยู่ที่ส่วนเหลื่อมของราคาขายในประเทศตัวเองเทียบกับราคาที่ส่งออกมาไทย และจะหมดอายุคุ้มครองโดยมาตรการเอดีในปี 2563 ส่วนมาตรการเอดีกับจีนและมาเลเซีย สิ้นสุดไปแล้วรอบแรกในปลายปี 2559 และต่ออายุแล้ว จะหมดการคุ้มครองในปี 2566 โดยมีอัตราภาษีเอดีอยู่ที่ 23-31%

แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถต้านแรงดัมพ์เหล็กจากจีนได้!!! นี่คือ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ TSTH ต้องเผชิญกับโจทย์หินที่ไม่มีใครช่วยได้!


➣ ทาทา กรุ๊ป ปรับกลยุทธ์ธุรกิจเหล็ก

ปัจจุบัน ทาทา กรุ๊ป ประเทศอินเดีย มีธุรกิจมากมายในเครือ มีทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา แต่ที่น่าจับตาจากนี้ไป คือ การออกมารุกคืบธุรกิจเหล็กอีกครั้ง โดย "ทาทา สตีล อินเดีย" ออกมาปรับกลยุทธ์ใหม่ แต่เป็นการมุ่งโฟกัสธุรกิจเหล็กในอินเดียมากขึ้น การขยับตัวครั้งนี้เริ่มปรากฏตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจเหล็กของทาทากรุ๊ปในยุโรป ที่ก่อนหน้านี้ก็ถอยบทบาทออกมา จากที่กลุ่มทาทาถือหุ้นเกือบทั้งหมด ก็เปิดช่องให้มีพันธมิตรร่วมทุนเข้ามาร่วมบริหาร รวมถึงการออกมาขายกิจการในเอเชีย ทั้งในไทยและสิงคโปร์ โดยเลือกขายทิ้งบริษัทที่ไม่มีกำไรออกไป ขณะเดียวกัน "ทาทา สตีล" ที่อินเดีย ก็มีการวิ่งซื้อโรงเหล็กที่น่าสนใจในอินเดียเองมากขึ้น โดยการเข้าไปเทกโอเวอร์


ผลประกอบการทาทาในไทย

จากผลดำเนินงานในธุรกิจเหล็กที่อินเดีย สะท้อนว่า มีผลกำไรดีกว่าหลายบริษัทที่ออกมาลงทุนนอกประเทศอินเดียก่อนหน้านี้ และตลาดในอินเดียเริ่มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มีการบริโภคเหล็กขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี "ทาทา กรุ๊ป" จึงปรับแผนขายทิ้งธุรกิจเหล็กที่มีกำไรน้อยในตลาดที่แข่งขันยาก เพื่อนำเงินกลับไปลงทุนต่อในอินเดีย

เหล่านี้ คือ การเปลี่ยนมุมมองของอินเดีย จากที่เดิมกระจายความเสี่ยงของฐานการผลิตเหล็กไปยังประเทศต่าง ๆ กลับมาเดินแผนขยายธุรกิจในประเทศตัวเอง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

วันนี้แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง "ทาทา กรุ๊ป" ยังต้องถอย!!! ว่ากันว่า มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่กลุ่มทุนจีนจ้องกินรวบธุรกิจเหล็กในประเทศไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายแสนล้านบาท น่าจะเป็นชิ้นปลามันที่ทำให้จีนออกมากระชับพื้นที่นอกบ้าน และไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายนี้ เพราะก่อนหน้านี้จีนใช้เวลาเข้ามาชิมลาง โดยการส่งออกเหล็กมาทุ่มตลาดในอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยมาก่อนแล้วหลายปี


เกี่ยวกับทาทาอินเดีย

น่าเสียดาย ... อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ที่มีมูลค่าตลาดสูง 7-8 แสนล้านบาทต่อปี (รวมขายในประเทศ-ส่งออก) กำลังจะกลายเป็นถูกทุนต่างชาติเข้ามากินรวบ สุดท้าย ... ฐานผลิตไทยมีค่าเพียงแค่ใช้แรงงาน และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศที่ไทยมีสิทธิพิเศษจากข้อตกลงการค้า เช่น FTA  และอาศัยไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผูกพันจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ที่ปัจจุบัน อเมริกาขึ้นภาษีสินค้าจีนกว่า 6,000 รายการ รวมอุตสาหกรรมเหล็กอยู่ด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว